กรมสุขภาพจิต ร่วมบริษัท บางจากฯ ให้โอกาส “ผู้ป่วยจิตเวช” คืนสู่สังคม สร้างงานสร้างอาชีพ ทดลองเป็น “บาริสต้า” ร้านอินทนิล พร้อมเผยเกณฑ์ต้องผ่านกระบวนการรักษาจนอาการดีขึ้นพร้อมตามเกณฑ์ทุกอย่าง ย้ำ! ขอสังคมให้โอกาสเพื่อช่วยพวกเขาได้กลับคืนใช้ชีวิต มีงานทำอีกครั้ง
เป็นประเด็นข้อห่วงใยมาตลอด กับการกลับคืนสังคมของ “ผู้ป่วยจิตเวช” แม้จะผ่านกระบวนการรักษาเป็นอย่างดีแล้ว แต่หลายคนก็ยังกังวลว่า พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตในสังคม ประกอบอาชีพอย่างไร...
นับเป็นข่าวดีกับความร่วมมือครั้งสำคัญของกรมสุขภาพจิต และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เล็งเห็นความสำคัญและให้โอกาสกับพวกเขา... ภายใต้ความร่วมมือการลงนามบันทึกข้อตกลงในการจัดทำ “โครงการ New life” ขยายโอกาสสร้างอาชีพแก่ผู้ป่วยจิตเวช โดยได้มีพิธีลงนามไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2564 ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เกิดจากจุดเริ่มต้นที่ทั้งสององค์กรมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกายและทางใจให้กับประชาชนในสังคมอย่างเท่าเทียม โดยกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช คือ กลุ่มที่สำคัญที่สังคมและทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนเพื่อให้มีรายได้และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม และเป็นการคืนผู้ป่วยกลับสู่สังคมได้อย่างภาคภูมิใจ
“ด้วยเหตุนี้ ทางกรมสุขภาพจิตจึงร่วมกับบริษัท บางจากฯ ในการจัดทำโครงการ New life เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชได้ทดลองฝึกงาน ฝึกอาชีพ ด้วยการปฏิบัติงานที่ร้านกาแฟอินทนิล ของทางบริษัท บางจากฯ ซึ่งจะเป็นโมเดลในการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อรองรับให้พวกเขาได้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง” พญ.อัมพร กล่าว
สำหรับเกณฑ์ในการเลือกผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่การทำงานร่วมกับทางร้านกาแฟอินทนิลนั้น.. พญ.อัมพร อธิบายว่า สิ่งสำคัญผู้ป่วยที่จะเข้ามาต้องผ่านกระบวนการรักษา จนพร้อมคืนสู่สังคม ชุมชน พร้อมทั้งร่างกายและวิธีคิด ซึ่งผ่านกระบวนการรักษาอย่างครบถ้วนจึงเป็นขั้นตอนสำคัญ อย่างไรก็ตาม เราจะมีพี่เลี้ยงหน้างานที่คอยสนับสนุนดูแลทุกอย่าง เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ และทำงานได้ โดยไม่กระทบต่อมาตรฐานของทางอินทนิล
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า มีการเตรียมพร้อมอย่างไรกรณีประชาชนที่มาใช้บริการอาจมีข้อกังวล พญ.อัมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ป่วยจิตเวชของเราเหมือนมีตราบาปมาเป็นเวลานาน แต่ด้วยประเด็นนี้ได้มีการสื่อสารและทำให้ประชาชนเข้าในมากขึ้น รวมทั้งเมื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติงานในร้านอินทนิล ประชาชนที่มารับบริการก็จะทราบว่า ผู้ป่วยทำงานได้ สามารถชงกาแฟรสชาติดี ซึ่งก็จะเห็นภาพชัดว่า พวกเขาทำงาน ให้บริการได้นั่นเอง
“ขณะนี้ผู้บริหาร รพ.จิตเวชของทางกรมสุขภาพจิต มีการเตรียมพร้อมและหารือกัน เบื้องต้นมีประมาณ 10 แห่งที่สนใจเปิดลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ที่รพ.ศรีธัญญา ถือเป็นที่แรก เป็นจุดเริ่มต้น โดยร้านกาแฟอินทนิล จะเป็นเหมือนโลกเล็กๆ ของพวกเขา เพื่อเตรียมพร้อมสู่ชีวิตในสังคมภายภาคหน้าได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ มีวัฒนธรรมการทำธุรกิจที่ควบคู่กับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งโครงการนี้ตรงกับแนวทางธุรกิจของบางจาก โดยทางบางจาก มีร้านกาแฟอินทนิลที่รพ.ศรีธัญญา ดังนั้น หากเราได้ช่วยผู้ป่วยที่ผ่านกระบวนการรักษาดีมากๆ การจะกลับคืนสู่สังคม การจะมีอาชีพให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตปกติได้ และได้รับการยอมรับ ดังนั้น เมื่อเรามีร้านอินทนิล ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีอาชีพ มีทักษะ เมื่อต้องกลับไปสู่สังคมของเขาก็จะได้ปรับตัวได้
“จุดเริ่มต้นจะเริ่มที่รพ.ศรีธัญญาก่อน ส่วนอนาคตนั้นความร่วมมือลงนามไว้ 3 ปี เมื่อมีร้านอินทนิลใน รพ.เครือของกรมสุขภาพจิต ก็จะใช้เป็นที่ฝึกงานต่อไปในอนาคต โดยผู้ป่วยที่มาฝึกจะสามารถชงกาแฟ มีการฝึกพื้นฐานการเป็นบาริสต้าทันที และในอนาคตยังสามารถมาทำงานประจำได้ทันที เพราะมีประวัติฝึกงานกับเรา
ขณะที่ นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญาและผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การผลักดันให้ผู้ป่วยจิตเวช ที่มีศักยภาพ ให้ได้มีโอกาสได้มีที่ยืนในสังคมอย่างเท่าเทียม สามารถพัฒนาตนเองเป็นพลังของครอบครัวและสังคม ได้อย่างภาคภูมิใจและมั่นใจ ไม่ถูกมองว่าเป็นภาระและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืนนั้นเป็นพันธกิจที่โรงพยาบาลศรีธัญญาและโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง ได้ให้ความสำคัญควบคู่กับการส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟูสรรถภาพทางจิตเวช สร้างกระบวนการที่เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย เพื่อทำให้ผู้ป่วยได้รับโอกาสในสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 481 views