กรมวิทย์ยืนยันผลตรวจชายอเมริกันเดินทางมาจากสเปน พบโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" รายแรกของประเทศไทย จากการตรวจ  RT-PCR  เข้ามาจาก Test and Go  ด้านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ย้ำอาจต้องพิจารณาไม่ถอนการตรวจ RT-PCR เพราะรายนี้ตรวจจับได้จากวิธีดังกล่าว พร้อมขอศูนย์ตรวจภาคใต้ตรวจเชื้อเข้มมากขึ้น เหตุมีชายแดนติดมาเลเซีย  ส่วนเคสอื่นๆยังไม่พบเพิ่มเติม 

 
เมื่อเวลา 11.00 น.  วันที่ 6 ธ.ค.2564 กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวประเด็นสถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอน โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ใน 2-3 วันที่ผ่านมา มีสื่อบางแขนง มีข่าวลือจนทำให้เกิดความสับสน จึงขอทำความเข้าใจให้ชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุขเอง โดยได้มีการตรวจสอบเรื่องการกลายพันธุ์มาตลอด มีการตรวจสอบทุกสัปดาห์ ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-3 ธ.ค.2564 ยังเป็นเชื้อเดลตา ในประเทศไทยเกือบ 100% โดยเราตรวจไปเกือบ 800 ตัวอย่าง เจอเดลตาสูงสุด ดังนั้น ภาพรวมในประเทศไทยเป็นเดลตา 99.87%  ส่วนเบตาน้อยมากอยู่ในพื้นที่จำกัดชายแดนใต้ ส่วนคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศตั้งแต่เปิดประเทศนั้น ได้มีการเฝ้าประเทศตามช่องทางอนุญาตยังพบเดลตาเป็นส่วนใหญ่ มีอัลฟาเพียง 1-2 ราย 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลการตรวจสายพันธุ์นั้น ขอย้ำว่า ที่ตรวจทุกครั้งในการแยงจมูกไม่ได้บอกสายพันธุ์ บอกเพียงว่าติดเชื้อหรือไม่ การจะบอกสายพันธุ์จะมีการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งคลัสเตอร์ไม่รู้สาเหตุ อยู่บริเวณชายแดน เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งการตรวจสายพันธุ์จะมี 3 ระดับ คือ ระดับแรก เป็นการตรวจด้วย RT-PCR เร็วสุดง่ายสุด เป็นการตรวจตำแหน่งยีนเฉพาะ แต่ต้องพัฒนาน้ำยาเฉพาะตรวจจับใช้เวลา 1-2 วัน จากนั้น หากตัวอย่างนั้นสงสัย ยิ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ต้องตรวจให้แน่ชัดที่เรียกว่า การตรวจ Target sequencing   แต่เป็นการตรวจบางส่วน หากจะให้สมบูรณ์ด้วยการตรวจทั้งตัว เรียกว่า Whole genome sequencing ใช้เวลา 5-7 วัน แต่เมื่อต้องใช้เวลาเร่งด่วน ทางกรมวิทย์ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจคัดกรองโอมิครอน เพื่อความรวดเร็วขึ้น

 "กรมวิทย์ได้พัฒนาการตรวจโดยใช้คาแรกเตอร์ของแต่ละสายพันธุ์ หากเราพบการหายไปของตำแหน่ง HV69-70 ก็สันนิษฐานเป็นอัลฟา ส่วน K417N สันนิษฐานเป็นเบตา และหากเจอ L452R เป็นเดลตา แต่โอมิครอน มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเป็นลูกผสม ดังนั้น หากเจอHV69-70  และK417N  ให้สันนิษฐานว่า เป็นโอมิครอน ดังนั้น ตัวอย่างที่ส่งมาจาก Test&Go  ซึ่งนำตัวอย่างจากรพ.คู่สัญญาที่ตรวจมาส่งให้ทางกรมวิทย์ จึงได้สรุปว่า อาจเป็นโอมิครอน และได้แจ้งกรมควบคุมโรคในการสอบสวนโรค ซึ่งเราไม่รอชักช้า แต่ด้วยเป็นรายแรก หากรีบออกมาบอกเลยโดยไม่ตรวจจีโนมทั้งตัว หากไม่ใช่ก็จะยุ่ง เราจึงมีการตรวจเพิ่มเติมด้วย 

ดังนั้น ที่ตรวจมาเดือนเศษๆ มี 1 รายที่มีโอกาสเป็นโอมิครอน โดยตัวอย่างนี้เป็นชาวอเมริกัน เดินทางมาจากสเปน และอยู่ใน Test and go ซึ่งจากพบ 2 จุดทำให้เข้าข่ายมีโอกาสเป็นโอมิครอน และเมื่อเข้าเครื่อง Whole genome sequencing  จริงๆ ก็จะทราบผลได้ตั้งแต่เมื่อวาน แต่ด้วยเชื้อที่นำมาอาจจะน้อย เมื่อมาถอดรหัสพันธุกรรมจึงทำให้ยาก ข้อมูลไม่สมบูรณ์ จึงได้ขอตัวอย่างมาใหม่ พบว่า มีเชื้อมากขึ้นในตัว จึงให้ผลเหมือนเดิม

"จากการเก็บตัวอย่างและเครื่องวิเคราะห์พบความเข้ากันได้ที่มีโอกาสเป็นโอมิครอนร้อยละ 99.92  แต่เราจะมีการตรวจเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ยืนยันอีกครั้ง และจะมีเครือข่ายแล็บอื่นๆ ช่วยคอนเฟิร์มด้วย แต่เบื้องต้นถือเป็นโอมิครอนรายแรกที่ตรวจพบในประเทศไทย และที่สำคัญเราทราบจากการตรวจ RT-PCR จึงต้องพิจารณาหากจะยกออกไป ส่วนเคสอื่นๆ ยังไม่มี อย่าเพิ่งไปลือกัน ทั้งนี้ เมื่อมีรายแรก ก็เชื่อว่าจะมีรายอื่นๆอีก ขออย่าตกใจ ต้องเตรียมพร้อม เพราะหลายประเทศเจอ จะเว้นประเทศไทยประเทศเดียวคงไม่ได้ และขอให้ทางศูนย์ทางใต้ตรวจเข้มมากขึ้น เพราะเรามีชายแดนติดมาเลเซีย ซึ่งก็เจอเชื้อแล้ว " นพ.ศุภกิจกล่าว 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดไทม์ไลน์ชาวต่างชาติเข้าไทยตรวจเจอ "โอมิครอน" รายแรก