กรมควบคุมโรค เปิดไทม์ไลน์ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย พบโควิด "โอมิครอน" รายแรกจากการตรวจเชื้อภายในประเทศ เผยองค์การอนามัยโลกประกาศขณะนี้แม้มีคนติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนอาการ พบน้อยมาก  ย้ำ! สิ่งสำคัญขอให้มาฉีดวัคซีนโควิด เพราะช่วยลดความรุนแรง และเสียชีวิตได้

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2564  นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงไทม์ไลน์ชาวต่างชาติติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" ที่ตรวจพบในประเทศไทย ว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ล่าสุดวันที่ 5 ธ.ค.64 ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 46 ประเทศ และคงเติมไทยเป็นประเทศที่ 47 ซึ่งแบ่งการติดเชื้อออกเป็น 1.ติดเชื้อในประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ รวมแล้วมี 15 ประเทศ 2.การติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้า มี 31 ประเทศรวมถึงประเทศไทย พบการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้ามา  และองค์การอนามัยโลกประกาศว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน

อย่างไรก็ตาม สำหรับเคสยืนยันรายแรกว่าเป็นโอมิครอนนั้น เป็นชายอายุ 35 ปีสัญชาติอเมริกัน อาศัยอยู่ในสเปนมา 1 ปี เป็นนักธุรกิจ ไม่มีโรคประจำตัว และเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ เดินทางมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 พ.ย. โดยวันที่ 28 พ.ย. ได้ตรวจเชื้อด้วย PCR แต่ไม่พบเชื้อ จึงเดินทางมาไทย ซึ่งตรงนี้ตามเกณฑ์ของไทยว่า จะเข้ามาต้องตรวจเชื้อก่อน 72 ชั่วโมงไม่พบจึงเข้ามาได้  ซึ่งมาถึงเราได้ตรวจอีกครั้งและพบเชื้อวันที่ 1 ธ.ค. และส่งยืนยันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เช่นกัน โดยรายนี้อาการน้อยมาก แทบไม่มีอาการ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ยืนยันต่างชาติเดินทางเข้าไทยเป็น "โอมิครอน" รายแรก จาก Test and Go)

"คนนี้ไม่มีอาการ และไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ตอนแรกรับผลเลือด ผลเอกซเรย์ปกติ แต่ตรวจเจอเชื้อ อย่างไรก็ตาม เราได้ตรวจสอบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ซึ่งทั้ง 19 คนที่ใกล้ชิดเคยมีประวัติเจอ เป็นพนักงานโรงแรม 17 คน และพนักงานสนามบิน 2 คน ทุกคนอาการปกติไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติม แต่จะติดตามจนครบระยะฟักตัวของโรค  อย่างไรก็ตาม คนไข้คนนี้ค่อนข้างระมัดระวังตัว ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ตอนนั่งเครื่องบินนั่งคนเดียว ไม่มีคนนั่งข้างๆ ตอนมาอยู่โรงแรมทำ Test and Go เขาสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้มีการติดตามเฝ้าระวังผู้มีประวัติใกล้ชิดทั้งหมด โดยขณะนี้ทุกคนที่เราตรวจสอบอาการปกติ ไม่เจอเชื้อ แต่ก็จะติดตามต่อเนื่องตลอดระยะฟักตัวของเชื้อ" นพ.โอภาส กล่าว  และว่า ส่วนกรณีหญิงแอฟริกาที่พบเชื้อโควิดรักษาในสถาบันบำราศนราดูรนั้น ไม่ใช่โอมิครอน แต่เป็นเดลตา ขณะนี้รักษาตัวอยู่ ไม่มีปัญหาอะไร 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ทั้งนี้ขออัปเดตเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนว่า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็ว 2-5 เท่า ส่วนใหญ่อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือไม่มีอาการ หรืออาการน้อย แยกยากจากสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งเดลตา อัลฟา แกมมา ลักษณะการติดเชื้อแยกยาก แต่ที่มีรายงานจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ.  และไม่มีรายงานการเสียชีวิต สิ่งสำคัญขณะนี้มาตรการที่องค์การอนามัยโลก และ CDC สหรัฐ แนะนำคือ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยประเทศไทยขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 95 ล้านกว่าโดส โดยเฉพาะคนฉีดเข็ม 1 ในคนไทยครอบคลุมเกิน 75% แล้ว และเข็มที่ 2 เกิน 60กว่า% และขณะนี้กำลังบูสเตอร์โดสเข็ม 3  โดยขอให้รอฟังประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่า ครบ 2 เข็มเดือนไหน และจะให้ฉีดบูสเตอร์โดสเมื่อไหร่ คาดว่าเดือนธ.ค.-ม.ค. จะมีการฉีดบูสเตอร์โดสมากที่สุด 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org