เมื่อถึงช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนก็เกิดขึ้นเรื่องเหลือเชื่อขึ้นในยุโรป จู่ๆ ก็เกิดการระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศพร้อมๆ กัน โรงพยาบาลในบางประเทศเริ่มที่จะแบกรับผู้ป่วยไม่ไหว เช่น เนเธอร์แลนด์จำเป็นต้องหยุดการรักษาโรคอื่นๆ เพื่อเตรียมโรงพยาบาลให้พร้อมกับผู้ป่วยติดเชื้อโวิด-19 ที่เพิ่มขึ้น และเยอรมนีมีผู้เสียชีวิตทะลุหลัก 100,000 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน
ระลอกใหม่ของการระบาดทำให้เกิดความสงสัยในวงกว้างว่า สาเหตุที่แม้จริงคืออะไรกันแน่? เพราะในความเข้าใจของคนทั่วไปคิดว่ายุโรปหลายประเทศมีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างสูง
ในความเป็นจริงอัตราการฉีดวัคซีน "ครบถ้วน" (ในนิยามเวลาที่เขียนบทความนี้หมายถึงการฉีด 2 เข็มครบถ้วน) ของยุโรปถือว่าก้ำกึ่งและอาจจะเรียกได้ว่าน้อยด้วยซ้ำ
เช่น เยอรมนนีฉีดครบถ้วน 67% ฉีดหนึ่งเข็ม 70% ฝรั่งเศสฉีดครบถ้วน 69% ฉีดหนึ่งเข็ม 77% ออสเตรียฉีดครบถ้วน 65% ฉีดหนึ่งเข็ม 69% สวิตเซอร์แลนด์ฉีดครบถ้วน 65% ฉีดหนึ่งเข็ม 67% เนเธอร์แลนด์ฉีดครบถ้วน 73% ฉีดหนึ่งเข็ม 77% (ตัวเลขจากวันที่ 22 พฤศจิกายน) เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างเฉพาะจากประเทศที่มีปัญหาชัดเจนจากระลอกใหม่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา (1)
แต่สิ่งที่ประเทศในยุโรปกำลังใคร่ครวญอย่างหนักยิ่งกว่าเมื่อเจอกับการระบาดระลอกใหม่ (ที่เหนือความคาดหมาย) ก็คือควรจะกลับไปล็อคดาวน์ประเทศอีกหรือไม่
ออสเตรียเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคำตอบว่า "ควร"
ออสเตรียเปลี่ยนแนวทางอย่างรวดเร็วเมื่อเห็นว่ามาตรการที่เน้นเฉพาะคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนไม่เพียงพอ จะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน มีการบังคับใช้การปิดเมืองทั่วประเทศสำหรับพลเมืองที่ไม่ได้รับวัคซีนอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยอนุญาตให้พวกเขาออกจากบ้านเพื่อทำงาน ซื้ออาหาร หรือกรณีฉุกเฉินเท่านั้น การล็อกดาวน์นี้ทางการระบุว่า "เป็นการชั่วคราว" (2)
แต่เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน เนื่องมาจากคลื่นลูกที่ 4 ในประเทศ ออสเตรียประกาศปิดประเทศเต็มรูปแบบกับพลเมืองทุกคน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน และกินเวลา 20 วัน ตามมาตรการใหม่นี้ ประชาชนต้องทำงานจากที่บ้าน ร้านค้าที่ไม่จำเป็นถูกปิด และโรงเรียนยังคงเปิดสำหรับเด็กที่ต้องการการเรียนรู้แบบตัวต่อตัวเท่านั้น นอกจากนี้ ยังจะมีการเริ่มบังคับใช้ข้อกำหนดทางกฎหมายกับพลเมืองให้ได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 (3)
แต่การล็อคดาวน์ของออสเตรียไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประชาชนให้ความร่วมมือน้อยลงทุกทีโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ต้องการฉีควัคซีนเลยหรือไม่ต้องการจะฉีดอีกแล้ว การบังคับให้ประชาชนต้องฉีควัคซีนให้เป็นหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่มีข้อแม้ก็กลายเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกในสังคมไม่เฉพาะแค่ทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนหลายหมื่นคนในหลายพื้นที่เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าคำสั่งล็อคดาวน์ครั้งแรกที่เน้นเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนทำให้มีอัตราวัคซีนเพิ่มขึ้นหลายแสนคนต่อวันหลังจากนั้น
แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกฝ่ายก็ชี้ว่าคนที่ต่อต้านวัคซีนก็จะต่อต้านอยู่แล้วโดยไม่เปลี่ยนใจ และจะยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านวัคซีนอื่นๆ ด้วย ดังมีข้อมูลยืนยันจากการศึกษาในปี 2559 ใน European Journal of Public Health ที่พบว่าข้อบังคับสำหรับการฉีดวัคซีนสามารถทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการฉีดวัคซีนอื่นๆ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต หรือบางคนอาจจะตีรวนคำสั่งฉีดวัคซีนถ้วนหน้าตามกฎหมาย โดยทำไปขึ้นทะเบียนฉีดวัคซีนแต่ไม่ยอมไปและไม่ยอมจ่ายค่าปรับ นอกจากนี้ การบังคับประชาชนยังทำให้ขบวนการต่อต้านนโยบายควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาลมีพลังมากขึ้น (4) โดยสรุปก็คือยิ่ง "บังคับใช้" มากเท่าไร กระแสต่อต้านจะเป็นตัวขัดขวางการควบคุมโรคระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่พวกนิยมการเมืองฝ่ายขวา
นี่อาจเป็นสาเหตุที่หลายประเทศที่เจอสถานการณ์เดียวกับออสเตรเลียไม่กล้าบุ่มบ่ามที่จะใช้มาตรการล็อคดาวน์ จนถึง ณ เวลาที่บทความนี้เขียนขึ้นมีแค่สโลวาเกียเท่านั้นที่เดินตามรอยออสเตรียและยังตามสเต็ปแบบออสเตรียโดยเริ่มจากการล็อคดาวน์เฉพาะคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนก่อน โดยคำสั่งแรกมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน เฉพาะพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือฟื้นตัวจากการติดเชื้อในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าที่มีสินค้าที่ไม่จำเป็น กิจกรรมกีฬา และกิจกรรมสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า บริการบางอย่างจะเพิ่มข้อจำกัดเพิ่มเติมแม้กระทั่งสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน ภูมิภาคส่วนใหญ่จะกำหนดให้พลเมืองที่ไม่ได้รับวัคซีนต้องเข้ารับการตรวจในสถานที่ทำงาน ข้อจำกัดดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แต่นายกรัฐมนตรีระบุว่าสามารถบังคับใช้ข้อจำกัดเพิ่มเติมได้หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เขาเรียกนโยบายนี้ว่า "ล็อกดาวน์สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน" (5) (6)
แต่เมื่อถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน สโลวาเกียประกาศภาวะฉุกเฉิน 90 วัน และล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์กับประชาชนทุกคนหลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเฉลี่ย 7 วันพุ่งสูงกว่า 10,000 ราย ทำให้ ประธานาธิบดีซูซานา ชาปูโตวา (Zuzana Čaputová) มีแถลงการณืกับประชาชนในวันที่ 22 พฤศจิกายนว่า “สโลวาเกียกำลังแพ้การต่อสู้กับโควิด-19” และยังอธิบายอีกว่าจำเป็นต้องล็อกดาวน์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานหนักเกินไป และโรงพยาบาลแบกรับแทบไม่ไหวแล้ว (7)
ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราการเข้ารับการรักษาพยาบาลของประเทศผ่านหลัก 3,000 รายซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขสโลวักถือว่าวิกฤต และในระดับนี้ รัฐบาลของประเทศสโลวาเกียอาจต้องพิจารณาขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป (7) ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับที่เนเธอร์แลนด์กำลังประสบอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือต้องส่งผู้ป่วยไปยังเยอรมนีที่อยู่ข้างเคียงเพื่อช่วยแบ่งเบาความตึงเครียดของระบบสาธารณสุข เพียงแต่วาเนเธอร์แลนด์ยังไม่ตัดสินใจล็อคดาวน์
เนเธอร์แลนด์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตัดสินใจลำบาก ในขณะที่สโลวาเกียแทบไม่มีการต่อต้านการล็อคดาวน์ ออสเตรียมีการประม้วงที่มีผู้คนเข้าร่วมหลายหมื่นคนแต่ไม่มีเหตุรุนแรง ในขณะที่เนเธอร์แลนด์มีการประท้วงที่รุนแรงมากไม่ใช่ต่อการล็อคดาวน์แต่ต่อต้านมาตรการของรัฐบาลที่รัดกุมขึ้นเพื่อควบคุมการระบาด การประท้วงที่เริ่มขึ้นในวันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน ที่มีศูนย์กลางในเมืองร็อทเทอร์ดัมมีผู้ถูกจับกุมตัว 51 คน ทางการเนเธอร์แลนด์ใช้กระสุนน้ำ สุนัข และตำรวจม้าเพื่อหยุดเยาวชนที่ก่อจลาจลซึ่งจุดไฟเผาและขว้างก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ประท้วงเหล่านี้ผสมกันระหว่างฝ่ายต่อต้านล็อคดาวน์ แฟนฟุตบอลหัวรุนแรง (ฮูลิแกน) และพวกนิยมการเมืองฝ่ายขวา
เมื่อถึงปลายเดือนพฤศจิกายน เนเธอร์แลนด์ก็ยังไม่ตัดสินใจล็อคดาวน์ แต่ใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นไปอีก โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน การเว้นระยะห่างทางสังคมชมีผลบังคับใช้อีกครั้งในเนเธอร์แลนด์โดยตำรวจจะสามารถบังคับใช้ได้กับทุกคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปจะต้องอยู่ห่างจากกัน 1.5 เมตร เว้นแต่พวกเขาจะอาศัยอยู่ที่เดียวกัน (8) ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน รัฐมนตรีสาธารณสุข ฮูโก เดอ ยองเงอ (Hugo de Jonge) กล่าวว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์วางแผนชุด "มาตรการหนัก" เพื่อชะลอคลื่นการระบาดที่ทำลายสถิติใหม่ที่ประเทศกำลังเผชิญแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่ามาตรการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร (8) สะท้อนให้เห็นถึงความลังเลที่จะล็อคดาวน์อีกครั้ง และเป็นไปได้ว่าเนเธอร์แลนด์เลือกที่จะเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดขึ้นมากกว่าจะใช้คำว่าล็อคดาวน์
อาจเป็นเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการล็อคดาวน์อีก (เช่นเสียงคะแนนเสียงให้ฝ่ายขวาหรือกระตุ้นให้เกิดการประท้วงซึ่งเสียทั้งทรัพย์สินและกำลังคนที่เข้าปราบปรามจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ) ทำให้หลายประเทศที่พบกับการระบาดระลอกล่าสุดในยุโรปเลือกที่จะ "ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป" แบบเนเธอร์แลนด์มากกว่าที่จะล็อคดาวน์ในสเต็ปที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับเหมือนออสเตรเลีย
ดังจะเห็นได้ว่า เยอรมนีนั้นหลังการระบาดระลอกใหม่ในภูมิภาคส่วนใหญ่ ใช้วิธีอนุญาตเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนและผู้ที่หายจากไวรัสเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงสถานที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหารหรือห้องแสดงคอนเสิร์ต
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎรของประเทศได้ลงมติผ่านมาเพื่อสนับสนุนข้อจำกัดใหม่ แผนดังกล่าวรวมถึงข้อจำกัดใหม่สำหรับสถานที่ทำงานและการขนส่งสาธารณะ (8)
ฝรั่งเศสเลือกที่จะสู้กับ "คลื่นการระบาดระลอกที่ห้า" โดยใช้เข็มกระตุ้นมากกว่าการล็อคดาวน์ โดย โอลิวิเยร์ เวรัง (Olivier Véran) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ว่าจะมีการให้วัคซีนเสริมสำหรับทุกคนที่อายุเกิน 18 ปี และจำเป็นต้องมีหน้ากากในทุกสถานที่ในร่ม และประกาศว่า
ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมเป็นต้นไป ผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างน้อย 7 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนครบสมบูรณ์ (คือสองเข็ม) ไม่อย่างนั้นบัตรผ่านการฉีควัคซีน (health passes) จะถือว่าเป็นโมฆะ (8)
อิตาลีใช้วิธีการคล้ายกับฝรั่งเศส โดยวันที่ 24 พฤศจิกายนรัฐบาลได้ประกาศว่านับตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม เฉพาะผู้ที่มีหลักฐานยืนยันการฉีดวัคซีนหรือหายจากโรคเท่านั้นที่สามารถรับประทานอาหารที่ร้านอาหารในร่ม ไปดูหนัง หรือเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาได้ การมีผลการตรวจเชื้อเป็นลบจะไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปในฐานบัตรผ่านเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาของรัฐบาลฉบับใหม่ยังกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนสำหรับผู้บังคับใช้กฎหมาย ทหาร และพนักงานโรงเรียนทุกคน เป็นต้น ก่อนหน้านี้ วัคซีนจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น (8)
จะเห็นว่าแนวโน้มคือการไม่ล้อคดาวน์ แต่จะเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นรวมถึงการฉีดกระตุ้น ยกเว้นบางประเทศส่วนน้อยที่จะล็อคดาวน์อาจเป็นเพระาอัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ (เช่น สโลกาเกียที่อัตราการฉีดต่ำมาก ส่วนออสเตรเลียก็ถือว่ามีอัตราต่ำเช่นกัน)
สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปอาจจะเป็นบรรทัดฐานให้กับภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป เพราะโอกาสที่มันจะเกิดการระบาดอีกระลอกก็ยังคงมีอยู่ อย่างน้อยก็จากประสบการณ์ของยุโรป
อ้างอิง
1. Finnis, Alex. (24 November 2021). "Europe vaccination rates map: How countries compare to the UK in vaccine roll-out as cases continue to rise". iNews.
2. Schuetze, Christopher F. (15 November 2021). "Austria's new lockdown applies only to the unvaccinated". The New York Times.
3. "Austria to go into full lockdown as Covid surges". BBC News. 19 November 2021.
4. Nugent, Ciara. (23 November 2021)."Austria's Plan to Make COVID-19 Vaccines Compulsory Is Dividing Citizens — and Experts". Time.
5. "Slovakia tightens restrictions, PM calls 'lockdown for unvaccinated'". (18 November 2021). Reuters
6. "Slovakia to restrict the unvaccinated to tame COVID surge". (17 November 2021). The Associated Press
7. "Slovakia becomes the second European country to go into lockdown as COVID cases surge". (24 November 2021). Euronews.
"COVID in Europe: Germany passes 100k deaths as Slovakia locks down". (25 November 2021). Euronews.
9. "Netherlands plans 'heavy measures' to stop COVID-19 spread - minister". (25 November 2021). Reuters
ภาพ Aeronautica Militare / wikipedia.org / CC BY 4.0
- 79 views