ปลัด สธ.เข้มกักตัวคนเดินทางมาจากแอฟริกา 10-14 วัน เฝ้าระวังโควิดโอไมครอน หลัง WHO ยกระดับสายพันธุ์น่ากังวล พร้อมถอดรหัสเชื้อจากกกลุ่มเข้า Test&Go
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีองค์การอนามัยโลกประกาศให้เชื้อไวัรสโควิด 19 สายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล โดยตั้งชื่อว่าโอไมครอน ว่า แม้จะยกระดับเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล แต่ไวรัสมากับคน ซึ่งตอนนี้เรากันหมดคนที่เดินทางมาจากแอฟริกา การเข้าประเทศไทยยังต้องกักตัว 10-14 วัน คิดว่ายังไม่เป็นปัญหาอะไร จริงๆ แล้วไวรัสตัวนี้ยังไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา เชื่อว่าด้วยลักษณะของการกลายพันธุ์ทั้งหลาย นักวิทยาศาสตร์ว่าไวรัสกำลังกลายพันธุ์จนถึงใกล้สิ้นสุดแล้ว ก็จะกลายพันธุ์กลับมาว่าเพื่อให้อยู่กับมนุษย์ได้ง่าย เพราะถ้าติดง่ายก็ตายเร็ว หรือถ้ารุนแรงด้วยตายด้วยก็เป็นไปไม่ได้ เขาก็จะไม่มีที่อยู่
"ตอนนี้เราให้ความสนใจติดตาม โดยเฉพาะสายการบินที่มาจากแอฟริกาก็ยังต้องกักตัว ไม่สามารถเข้าระบบ Test&Go ที่ไม่ต้องกักตัว ซึ่งเราประกาศแค่ 63 ประเทศ/พื้นที่เท่านั้นที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะฉะนั้นเรายังวางมาตรการป้องกัน ผมว่าที่ใหญ่ที่สุดที้ผ่านมาก็คือเดลตา" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จริงๆ อย่างที่ทราบ มีข้อมูลตั้งแต่กลาง พ.ย. ว่ามีการระบาดที่บอตสวานา ขยับมาที่แอฟริกาใต้ ไปหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล ทั้งนี้ ปกติไวรัสที่กลายพันธุ์จะค่อยๆ ถูกยกระดับในการกำกับติดตามดู เป็นระดับที่น่าสนใจ และระดับที่น่าห่วงกังวล ซึ่งเมื่อวานผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกพูดคุยมีข้อมูลเบื้องต้นพบว่า น่าจะจัดชัดเจนในระดับห่วงกังวล และให้ชื่อโอไมครอน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสนามจริงยังมีน้อย แต่ข้อกังวลคือลักษณะการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งมาก 50 กว่าตำแหน่ง โดยมี 32 ตำแหน่งอยู่ในสไปก์โปรตีนหรือโปรตีนหนามที่จะมาจับกับเซลล์มนุษย์ ฉะนั้นต้องรวบรวมข้อมูลต่อ ไม่อยากให้กังวลมาก
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามามีผลตรวจเจอเชื้อ 100 กว่าคน เราจะเอาตัวอย่างเหล่านี้มาตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ว่ามีสายพันธุ์นี้หลุดเข้ามาหรือไม่ และน่ายินดีว่า ที่เข้ามาระบบ Test&Go ตรวจวันเดียวปล่อยไม่มีประเทศในแอฟริกาในบัญชีรายชื่อ ถ้าจะเข้ามาต้องกักตัวและอาจยาวนานขึ้น โดยทุกรายที้ผลบวกไม่ว่าตรวจเจอวันไหนก็ต้องเอามาตรวจรหัสพันธุกรรมว่ามีสายพันธุ์นี้หรือไม่
"ขอว่าอย่าเพิ่งกังวล ให้รอข้อมูลก่อน เข้าใจว่า องค์การอนามัยโลกกำลังรวบรวมข้อมูล ซึ่งมีข้อเท็จจริงบางประการ โอไมครอน ไม่ใช่ลูกหลานเดลตา อัลฟา หรือไวรัสที่น่าห่วงกังวลเดิม แต่พัฒนามาจากอีกสายหนึ่งจึงมีการกลายพันธุ์ที่ว่า ซึ่งการกลายพันธุ์เราดูว่าทำให้แพร่เร็วไหม หลบวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันไหม และทำให้โรครุนแรงไหม ติดตาม 3 เรื่องนี้ โดยจะรวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ ซึ่งข้อมูลอยู่ระดับหลักพันเท่านั้นเอง ทั่วโลกต้องช่วยกันจับตา แต่ให้ความมั่นใจว่า ระบบของเรามีขีดความสามารถพอที่จะตรวจจับ ถ้าหลุดรอดเข้ามาในประเทศ" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า มาตรการพื้นฐานยังสำคัญ คือ ใส่หน้ากาก ล้างมือ มีข่าวแบบนี้ต้องระมัดระวังตนเองมากขึ้น หลายประเทศกลับมาระบาดเพราะหย่อนมาตรการ แม้ฉีดวัคซีนเพิ่ม ดังนั้น วัคซีนเพิ่มแล้วมาตรการครบถ้วนด้วย จะช่วยปกป้องประเทศเรา
- 6 views