กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ภาพรวมฉีดแล้วกว่า 87.6 ล้านโดส ยังขาดอีก 12.4 ล้านโดสถึงจะครบ 100 ล้านในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่พบ “10 จังหวัด” ฉีดวัคซีนน้อย ส่วนความครอบคลุมประชากรผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง ฉีดวัคซีนเกิน 80% มี 6 จังหวัด คือ ปทุมธานี นครพนาม สกลนคร กรุงเทพ เชียงใหม่และสมุทรปราการ ชี้ “นครพนม” แม้ภาพรวมเข็ม 1 รับวัคซีนน้อย แต่กลุ่มเสี่ยงสูง ขอจังหวัดอื่นๆ เร่งฉีดวัคซีน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 พ.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิดและการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ 100 ล้านโดส ว่า ขณะนี้ยอดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 รายงานถึงเมื่อวันที่ 18 พ.ย. เวลา 18.00 น. มีการฉีดแล้ว 87.6 ล้านโดส แปลว่ายังขาดอีก 12.4 ล้านโดสถึงจะได้ 100 ล้านโดสในเดือน พ.ย.2564 อย่างไรก็ตาม สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อยู่ที่ 46.2 ล้านโดส คิดเป็น 64.2% เป้าที่จะถึง 70% จึงต้องเดินหน้าต่อ ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดแล้วกว่า 38 ล้านโดส คิดเป็น 53.3% ส่วนเข็มที่ 3 ฉีดแล้วกว่า 2.9 ล้านโดส คิดเป็น 4.1%
สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ได้มีการย้ำเน้นให้มีความพร้อมในส่วนเจ้าบ้าน โดยประชาชนต้องฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง และกลุ่มที่เสี่ยงสูง 608 ต้องได้รับวัคซีนมากที่สุด โดยข้อมูลภาพรวมเข็มที่ 1 ฉีดครอบคลุม 79.5% ส่วนภาพรวมประชาการอยู่ที่ 85.1% ส่วนเข็มที่ 2 อยู่ที่ 72.2% อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญของพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เมื่อเปิดประเทศ อาจมีคนไทยในพื้นที่อื่นๆ หรือแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา จึงต้องฝากให้คนในชุมชนช่วยกันดูว่า มีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาใหม่และไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ เพื่อติดต่อให้มีการฉีดวัคซีนต่อไป ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดที่มีการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ต่ำที่สุดพบ 10 จังหวัด (วันที่ 28 ก.พ.-18 พ.ย.64) อาจมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เป็นจังหวัดที่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้หวือหวามากนัก และพี่น้องประชาชนบางส่วนอาจมองว่า ความเสี่ยงต่ำ ขอรอก่อน แต่จริงๆ ทุกพื้นที่ที่การฉีดวัคซีนต่ำอยู่ ย่อมมีโอกาสหากเกิดกลุ่มก้อนติดเชื้อ อาจเพิ่มจำนวนได้ จึงขอให้ประเมินความเสี่ยง และขอให้มีการฉีดวัคซีนกว้างขวางมากขึ้น โดย 10 จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ โดยหากพิจารณาในกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป หลายพื้นที่ได้ฉีดวัคซีนเกิน 70% แล้วก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่ดี หากเกิดระบาดกลุ่มก้อน กลุ่มเสี่ยงรุนแรงก็จะลดความเสี่ยงอาการหนัก นอนรพ.ได้ จึงฝากให้พี่น้องประชาชนในจังหวัดเหล่านี้ ได้ช่วยกันสื่อสารว่า หากท่านใดยังลังเลใจ ไม่แน่ใจเรื่องใด สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ช่วยสร้างความเข้าใจได้
สำหรับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำแนกตามจังหวัด และการได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย ข้อมูลถึงวันที่ 18 พ.ย. 2564 พบว่า จังหวัดที่ฉีดวัคซีนครอบคุลมเกิน 70% ขึ้นไปมี 11 จังหวัด ประกอบกอบด้วย พื้นที่สีฟ้า ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ พังงา ภูเก็ต ระนอง จังหวัดอื่นๆ มีฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรสาคร สงขลา
ส่วนจีงหวัดที่ฉีดวัคซีนครอบคลุม 50-69% มี 43 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่สีฟ้า ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ตราด ระยอง เลย หนองคาย อุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ สุราษฎร์ธานี ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีเชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ปราจีนบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา มุกดาหาร อำนาจเจริญ ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล นราธิวาส ยะลา ส่วนปริมณฑล นนทบุรี และนครปฐม ทั้งนี้ เราหวังว่า 43 จังหวัดจะขยับการฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 70% ขอเป็นกำลังใจ และพี่น้องประชาชนไม่ว่าอยู่จังหวัดไหนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ขอให้ติดต่อรับการฉีดวัคซีนในรพ.รัฐใกล้บ้าน หรือติดต่อ อสม.
ส่วนจังหวัดที่ฉีดวัคซีนครอบคลุม 40-49 จังหวัด มี 23 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี แพร่ แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก ชัยนาท นครนายก ลพบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สระแก้ว กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองบัวลำภู ชัยภูมิ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
“ส่วนความครอบคลุมประชากรผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง พบว่าฉีดวัคซีนเกิน 80% มี 6 จังหวัด คือ ปทุมธานี นครพนาม สกลนคร กรุงเทพ เชียงใหม่และสมุทรปราการ จะเห็นว่า นครพนม แม้ภาพรวมเข็ม 1 จะอยู่ต่ำ แต่ปรากฎว่าในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับวัคซีนสูง จึงขอเป็นกำลังใจให้ประชากรอื่นๆ มาฉีดวัคซีนเพิ่มเติม” นพ.เฉวตสรร กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายเดือน พ.ย.64 ฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อให้ประเทศกลับสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตทำมาหากินประกอบอาชีพไม่ติดขัด ซึ่งขณะนี้มีการติดต่อ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกทม. ได้รับทราบแนวทางดังกล่าว ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน โดยมีการระดมสรรพกำลังหน่วยงานต่างๆ สำรวจตรวจสอบว่ามีพี่น้องประชาชนจุดใดบ้างที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้อแดยอ่างทั่วถึง หน่วยงานฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน อสม.เคาะประตูบ้าน นอกจากนี้ หน่วยบริการ โรงพยาบาลจัดฉีดวัคซีนรับ walk in อำนวยความสะดวกเปิดรับนัดหมาย ที่สำคัญให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องวัคซีนสร้างความมั่นใจ เพราะข้อมูลชัดเจนว่า 80-90% ของคนเสียชีวิตคือไม่ได้รับวัคซีน แสดงว่า คนรับวัคซีนได้รับผลในการป้องกันการเสียชีวิต
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่า วัคซีนมีความปลอดภัยสูง ในส่วนที่มีการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนตั้งแต่ฉีดวัคซีนเข็มแรก พบว่าข้อมูลการเสียชีวิตที่รายงานเข้ามา ได้รวมทุกสาเหตุ เกือบทั้งหมดไม่ได้เกิดจากวัคซีน มีเพียง 4 รายเกี่ยวข้องกับวัคซีน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 201 views