เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ จัดแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 30 ประจำปี 2564
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2564 ทั้งสิ้น 86 ราย จาก 35 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี2564, 2563, 2562 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2564
โดยสาขาการแพทย์ มีจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ 1. รศ.ดร.กอตอลิน กอริโก รองประธานอาวุโส บริษัทไบโอเอ็นเทค อาร์เอนเอ ฟาร์มาซูติคอล สหพันธรัฐเยอรมนี จากสหรัฐอเมริกา/ฮังการี, 2. ศ.นพ.ดรู ไวส์แมน ผู้อำนวยการแผนกวิจัยวัคซีนโรคติดเชื้อ และศาสตราจารย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา โดย รศ.ดร.กอตอลิน กอริโก และศ.นพ.ดรู ไวส์แมน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ มาใช้ในทางการแพทย์ ภายหลังยังถูกพัฒนาต่อเป็นวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ มาใช้ในทางการแพทย์ โดยในปี พ.ศ.2549 ได้ร่วมกันค้นพบว่าการใช้นิวคลิโอไซด์ดัดแปลงช่วยลดปฏิกิริยาของเซลล์ต่ออาร์เอนเอแปลกปลอมได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการนำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว เมสเซนเจอร์อาร์เอนเอแปลกปลอมที่ให้เข้าไปจากภายนอกเซลล์จะถูกกลไกต่อต้านไวรัสของเซลล์ตรวจจับ และเมื่อพบอาร์เอนเอแปลกปลอมก็จะกระตุ้นกลไกต่างๆที่จะยับยั้งการแปลรหัสจากอาร์เอนเอและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ
ซึ่งกลไกเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ฉีดเข้าในร่างกายเพื่อการป้องกันหรือรักษาโรค การค้นพบดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาวิจัยต่อๆ มาของ รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ที่ทำให้มีการนำซูโดยูริดีนมาใช้ในการสร้างเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ และการคิดค้นวิธีการในการทำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอที่มีซูโดยูริดีนให้บริสุทธิ์ เป็นรากฐานสำคัญในการนำเทคโนโลยีเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิด-19 รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ได้อย่างรวดเร็ว
ผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ทำให้เกิดวัคซีนโควิด-19 ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
และ 3. ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คุลลิส เป็นผู้บุกเบิกงานด้านอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล ซึ่งมีการใช้ในทางการแพทย์ในลักษณะต่างๆ เช่นการนำส่งยาต้านมะเร็งไปยังเนื้อเยื่อมะเร็งโดยไม่ทำให้เกิดพิษต่อเนื้อเยื่อปกติ และอนุภาคไขมันที่ศาตราจารย์คุลลิสพัฒนาที่น่าสนใจมากที่สุดได้แก่ อนุภาคไขมันที่มีไขมันที่สามารถทำให้มีประจุบวกได้ โดยไขมันดังกล่าวไม่มีประจุเมื่ออยู่ในสภาพความเป็นกรดด่างที่เป็นกลาง
แต่จะมีประจุบวกเมื่ออยู่ในสภาพเป็นกรด อนุภาคไขมันเหล่านี้ไม่ทำปฏิกิริยาและไม่เป็นพิษต่อเซลล์เนื่องจากไม่มีประจุ แต่เมื่อถูกนำเข้าสู่เซลล์ภายในเอนโดโซมซึ่งมีสภาพเป็นกรดก็จะเปลี่ยนเป็นมีประจุบวก ซึ่งจะทำให้หลอมเชื่อมกับเยื่อไขมันของเซลล์ที่มีประจุลบ การหลอมเชื่อมของเยื่อไขมันดังกล่าวทำให้มีการนำส่งส่วนประกอบภายในของอนุภาคไขมันเช้าสู่ไซโตปลาสซึมของเซลล์ วิธีการดังกล่าวได้มีการนำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งกำลังใช้ในการควบคุมการแพร่จะบาดของโรคโควิด 19 อยู่ในปัจจุบัน
ผลงานของศาสตราจารย์ ปีเตอร์ คุลลิส นอกจากจะทำให้มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จแล้ว ยังทำให้มีวิธีการที่จะนำกรดนิวคลิอิกเข้าสู่เซลล์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเปิดความเป็นไปได้อีกมากมายในการนำเทคโนโลยีกรดนิวคลิอิคมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ในอนาคต ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตของมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 45 views