ผู้บริหาร สปสช. ลงพื้นที่ “ศูนย์สุขภาพชุมชนประชานุเคราะห์ รพ.ราชบุรี” 1 ใน 3 หน่วยบริการปฐมภูมิ ช่วยลดความแออัด-เพิ่มคุณภาพดูแลผู้ป่วยนอก รพ. แบบองค์รวม จัดบริการส่งเสริม-ป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู มีหน่วยยา-หน่วยตรวจแล็บ-ระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสปสช.และ นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 5 ราชบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน “ศูนย์สุขภาพชุมชุนประชานุเคราะห์ รพ.ราชบุรี (หน่วยบริการปฐมภูมิโรงเจ)” อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 คลินิกบริการระดับปฐมภูมิ ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารงานของโรงพยาบาลราชบุรี
สำหรับการดำเนินงานคลินิกแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่ รพ.ราชบุรี โดยจัดบริการระดับปฐมภูมิแบบใกล้บ้านใกล้ใจ เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งกาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้พื้นที่การดูแลทั้งหมด 35 ชุมชน รวมประชากร 26,111 คน ด้วยอัตรากำลังของบุคลากรรวม 30 คน ซึ่งคลินิกแห่งนี้ได้รับรางวัล PCC award เขตสุขภาพที่ 5 ราชบุรี ปีงบประมาณ 2562
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพฯ แห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการพัฒนาบริการ ตามนโยบายสนับสนุนบริการปฐมภูมิ ประชาชนมีแพทย์ประจำครอบครัว เพิ่มความสะดวกในการรับบริการ และลดความแออัดของระบบบริการ ซึ่ง สปสช. สนับสนุนให้มีจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในปี 2564 มีจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 2,690 แห่ง ซึ่งในปี 2565 ได้ตั้งเป้าให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,300 แห่ง โดยการกระตุ้นและพัฒนาคุณภาพบริการในทุกเขตสุขภาพ ทุกจังหวัด พร้อมลงรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และข้อสะท้อนแนวทางการบริหารจัดการ อันจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบหรือแนวทางการบริหารจัดการให้ดีขึ้นตามเป้าหมายต่อไป
ด้านพญ.ปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า คลินิกแห่งนี้ได้ประสบความสำเร็จในการช่วยลดความแออัดของการรับบริการที่ รพ.ราชบุรี โดยทำหน้าที่เป็น gatekeeper ทำให้บริการปฐมภูมิเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน โดยจัดบริการตั้งแต่ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู พร้อมทั้งมีหน่วยยา หน่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดระบบการส่งต่อที่ดี ด้วยการจัดระบบช่องทางด่วน (fast track) เพื่อให้ผู้ป่วยได้พบแพทย์เฉพาะที่สะดวกรวดเร็ว และมีการเชื่อมต่อข้อมูลการรักษา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการ ลดระยะเวลารอคอยที่โรงพยาบาล
พญ.ปาจรีย์ กล่าวว่า แม้แต่ผู้ป่วยหลายรายที่ต้องส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ยังประสงค์ขอรับบริการที่หน่วยปฐมภูมิโรงเจเป็นหลัก ไม่อยากเดินทางไปรักษาที่อื่น เนื่องด้วยปัจจัยของจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลจำนวนมาก ส่วนใหญ่จึงมักได้รับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว แต่หน่วยบริการปฐมภูมิแห่งนี้ให้ความสำคัญกับการดูแลที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทั้งยังมีการเยี่ยมบ้านในผู้ป่วยรายที่ต้องการการดูแลประคับประคอง ผู้สูงอายุ ไปจนถึงผู้พิการ
“จุดเด่นสำคัญของที่นี่คือการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่ในการจัดตั้งที่ทำการจากมูลนิธิประชานุกูล (โรงเจประปา) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ขณะที่การบริหารจัดการในช่วงโควิด-19 ก็ได้จัดบริการเยี่ยมผู้ป่วยโดยระบบออนไลน์ วิดีโอคอล และส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการดูแลและประเมินผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation” พญ.ปาจรีย์ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 453 views