‘ธรรมศาสตร์’ พัฒนาแพลตฟอร์ม “เรดดี้ ซีเนียร์” (Ready Senior) ผ่านช่องทาง “เว็บไซต์-” เฟซบุ๊ก-ไลน์” สร้างคอมมูนิตี้ดูแลสุขภาพของคนวัย 50 อัพ เตรียมความพร้อมสู่ชีวิตเกษียณ พร้อมเปิดโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” จับมือ 20 กิจการธุรกิจ เปิดตลาดจัดหางาน “ประจำ-พาร์ทไทม์” อบรมหลักสูตรออนไลน์ ดึงแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ดูแลปัญหาสมองเสื่อม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว และในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด คือผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป ราว ๆ 25% ของประชากรทั้งหมด ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมการอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับปัญหาผู้สูงอายุทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ กล่าวว่า ขณะนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊กเพจ และไลน์ ในชื่อ “เรดดี้ ซีเนียร์” (Ready Senior) ขึ้นเป็นศูนย์กลางการสร้างสังคมสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้ความรู้ ยกระดับความสามารถด้านอาชีพ การดูแลตัวเอง รวมทั้งประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรการเชิงป้องกันสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ
“เราคิดว่าต้องเริ่มต้นกับคนที่อายุกำลังเข้าสู่เลขห้า ไม่เฉพาะคนใกล้เกษียณ เพราะเรื่องสังคมผู้สูงอายุต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า รอให้เข้าเลขหกก็สายไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเองต้องเริ่มแต่เนิ่น ๆ เพราะในการสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น ไม่ใช่เรื่องการรักษาความเจ็บป่วย แต่คือการดูแลให้มีชีวิตในช่วงแข็งแรงไม่เจ็บป่วยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งยังจะต้องวางแผนชีวิตให้ครบทุกด้าน ทั้งสุขภาพ การใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนไป การวางแผนการเงิน การทำมาหากิน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ศูนย์พัฒนาธุรกิจฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติให้ดำเนินโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” โดยจะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ “เรดดี้ ซีเนียร์” ที่คณะพาณิชย์ฯ พัฒนาขึ้นมาเป็นช่องทางสื่อหลักในการสร้างคอมมูนิตี้ โดยขณะนี้ได้มีการจัดการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ การทำธุรกิจออนไลน์ การสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ และอื่น ๆ ไปแล้วกว่า 10 หลักสูตร
นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาธุรกิจฯ ยังได้สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรมากกว่า 20 กิจการ พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่สำหรับการหางานให้แก่ผู้ที่เกษียณและเตรียมเกษียณผ่านแพลตฟอร์มของโครงการ โดยมีทั้งงานประจำและงานชั่วคราว เบื้องต้นพบว่าผู้สูงอายุที่มาร่วมโครงการซึ่งในขณะนี้มีกว่า 6,000 คน มีประสบการณ์ที่น่าสนใจจำนวนมาก จะเป็นโอกาสที่ดีกับกิจการต่างๆ ที่จะได้คนที่มีความชำนาญงานไปทำงานด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาเรื่องโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุนับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งตามสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ทุก ๆ 3 วินาทีจะมีคนเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 1 คน โดยปัญหานี้สร้างผลกระทบต่อตัวผู้สูงอายุเองและผู้ดูแลด้วย จึงต้องเตรียมการแต่เนิ่น ๆ เช่นกัน
“โครงการของเราได้ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในการออกแบบหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุและผู้เป็นโรคสมองเสื่อม โดยจะอบรมให้แก่ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ให้สามารถดูแลตัวเอง คนในครอบครัว ตลอดจนต่อยอดไปสู่อาชีพผู้ดูแลคนสูงอายุ ซึ่งอาชีพนี้จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคตอันใกล้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ กล่าว
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรคสมองเสื่อมจะกลายเป็นโรคที่คุกคามคนไทยมากขึ้นจากการที่ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้จะช่วยประวิงเวลาการเกิดโรคออกไปได้ โดยทีมแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมีความพร้อมในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ด้วยการใช้ศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ ซึ่งเป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นหลักในการให้ความรู้และเป็นสถานที่ฝึกงาน
สำหรับผู้สนใจโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ที่ต้องการพัฒนาตนเอง สร้างอาชีพ และแสวงหาโอกาสทั้งก่อนและหลังเกษียณสามารถติดต่อเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ และไลน์ Ready Senior โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ
MEDIA HOTLINE : พรศรินทร์ ศรีสวัสดิ์ / 087-171-8944 / jamjamgroup.company@gmail.com
- 124 views