กรมควบคุมโรคแจงรายละเอียด “วัคซีนพาสปอร์ต” ใช้ได้จริง! หลังสมาชิกวุฒิสภาตั้งคำถาม พร้อมเสนอ “รัฐมนตรีว่าการสธ.” ปรับระบบแสดงใน “หมอพร้อม” ให้เป็นสากล ด้าน รองอธิบดี คร. ย้ำ! ขณะนี้เริ่มใช้แล้วตั้งแต่ 1 พ.ย. รูปแบบดิจิทัล และรูปเล่มสีเหลือง โดยอิงข้อมูลเทียบเคียงองค์การอนามัยโลก จึงมีความสากล และประเทศปลายทางยอมรับ ล่าสุดข้อมูลการขอหนังสือใบรับรองการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2564 จนถึงวันที่ 10 พ.ย. 2564 ขอแล้วกว่า 4.5 หมื่นเล่ม
ตามที่มีการแชร์กันในสังคมออนไลน์กรณี “นายพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา” เสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ถึงการจัดทำวัคซีนพาสปอร์ตที่สามารถใช้ได้ในระบบ “หมอพร้อม” จริงๆ โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ประธานกรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กสนับสนุน ว่า กระทรวงสาธารณสุข ต้องทำเรื่องให้ง่ายขึ้น น่าเชื่อถือ ปลอมแปลงยาก และสะดวกกับประชาชน ความเห็นของท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์
ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการสื่อสารกับทางสมาชิกวุฒิสภาแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับระบบของ International Vaccination Certificate ต้องทำให้ได้มาตรฐานสากล การออกแบบจึงต้องดูจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่า ควรมีรูปแบบ และตัวแปรอย่างไรบ้าง ซึ่งจะใช้ฐานข้อมูลการฉีดวัคซีน โดยทุกโรงพยาบาลจะส่งข้อมูลมายังฐานข้อมูลกลาง การจะออกใบรับรองก็ต้องตรวจสอบ เนื่องจากบางครั้งผู้ฉีดวัคซีนไม่ได้ไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ทำให้ลงข้อมูลบางส่วนไม่ครบ จึงต้องลงให้ครบ เช่น ล็อตนับเบอร์ รวมทั้งเวลาการออกสมุดเล่มเรื่อง ที่เป็นการรับรองการฉีดวัคซีน หรือวัคซีนพาสปอร์ต จำเป็นต้องมีเลขพาสปอร์ต เพราะคือการระบุตัวบุคคล แต่ขณะที่ไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล ไม่ได้มีการแจ้งเลขตรงนี้ไว้ อีกทั้ง บางคนไม่ได้ทำพาสปอร์ตด้วย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร
“ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบ และเชื่อมโยงข้อมูลพาสปอร์ต จนออกเป็นสมุดเล่มเหลือง อีกทั้ง เมื่อเร็วๆนี้ ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ประกาศเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2564 ที่ผ่านมายังได้เพิ่มในส่วนของ Digital Certificate ออกมาคู่กันกับสมุดเล่มเหลือง ซึ่งหากใครไม่มีสมุดเล่มเหลืองก็สามารถโชว์ด้วย QR Code ด้วยคิวอาร์โคดดังกล่าวได้รับการเชื่อมโยงกับประเทศหลักๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือ สามารถสแกนแล้วมาที่ฐานข้อมูลในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิธีสากล ที่หลายๆประเทศก็ดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 20-30 ประเทศ เป็นกลุ่มประเทศอย่างอียู เป็นต้น โดยได้มีการพิจารณาแล้วว่ามาตรฐานของไทยโอเค มีการเทียบเคียงกับองค์การอนามัยโลก และเราก็มีการทำข้อตกลงกับประเทศปลายทางว่า มีเงื่อนไขการฉีดวัคซีนอะไรบ้าง” นพ.โสภณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าปัจจุบันเราสามารถใช้วัคซีนพาสปอร์ตในรูปแบบดิจิทัลได้แล้วใช่หรือไม่ เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา ยังกังวลว่า อาจใช้ไม่ได้จริง ไม่มีความเป็นสากล นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดทำข้อมูลให้สามารถใช้ได้ในลักษณะสากล อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว เพราะเดิมหากใช้แค่ใบรับรองการฉีดวัคซีน ณ จุดฉีด ข้อมูลอาจไม่ตรงอย่างการชื่อ นามสกุล ภาษาอังกฤษ เลขพาสปอร์ตไม่มี อีกทั้ง ยังมีจุดฉีดต่างๆ ที่เป็นการออกฉีดจากโรงพยาบาลอีก ซึ่งหากเราเอากระดาษใบรับรองใบนั้นไปยื่นเป็นวัคซีนพาสปอร์ต หากต่างชาติตรวจสอบอาจไม่รับรอง จึงจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากส่วนกลางก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน น่าเชื่อถือ โดยขณะนี้เราสามารถใช้วัคซีนพาสปอร์ตได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
“ดังนั้น ประชาชนหากต้องการวัคซีนพาสปอร์ต ให้เข้าไปในระบบ “หมอพร้อม” และกดไปที่ International Certificate และกดขอหนังสือรับรอง จากนั้นระบบจะส่งรีเควสไปยังเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ หากผ่านก็ใช้ได้ ซึ่งหลายคนอาจต้องการใช้แบบเป็นเล่ม เพราะบางประเทศอาจไม่มีระบบดิจิทัล จึงมีไว้เพื่ออุ่นใจ ซึ่งก็สามารถขอทั้งรูปแบบเล่มควบคู่กันได้ โดยหากต้องการรูปแบบเล่มติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือกรมควบคุมโรค หรือสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง หรือโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลการขอหนังสือใบรับรองการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2564 จนถึงวันที่ 10 พ.ย. 2564 : 45,235 เล่ม เฉลี่ย 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับวัคซีนพาสปอร์ต รูปเล่มแล้ว จำนวน 1,540 เล่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอแนะของนายพิศาล มาณวพัฒน์ ใจความสำคัญระบุว่า
กรรมาธิการการสาธารณสุขวุฒิสภาได้เรียกผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขมารับทราบความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องการขอทำวัคซีนพาสปอร์ตเล่มเหลืองหลายครั้ง ล่าสุดวันที่ 3 พ.ย.2564 โดยผู้แทนกรมการกงสุลรายงานว่า ได้แจ้งนานาประเทศว่า เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนของไทยเป็นวัคซีนพาสปอร์ตของกรมควบคุมโรค ผู้แทนกรมควบคุมโรคไม่ตอบคำถามประธานกรรมาธิการฯ ว่าเหตุใดจึงไม่ยอมรับว่าเอกสารที่ออก ณ จุดฉีด (ตามแบบฟอร์มของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ชื่อ Thailand Certificate of Covid-19 Vaccination) สามารถใช้แทนวัคซีนพาสปอร์ตของตนได้
อย่างไรก็ตาม หลายชาติในยุโรปเริ่มบ่นว่า วัคซีนพาสปอร์ตไทยไม่มีลักษณะที่จะตรวจสอบความถูกต้องได้ จึงขอให้ไทยตัดสินใจให้แน่ว่า จะใช้เอกสารรองกรับการฉีดวัคซีนรูปแบบใด โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
1.เอกสารรับรองที่สะดวกที่สุด ถูกต้อง ปลอมไม่ได้ คือ กระดาษตัวจริงที่ออกให้ ณ จุดฉีดที่มี QR coad พร้อมชื่อ นามสกุล เป็นภาษาอังกฤษ ใช้วันเดือน ปี แบบสากล ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแบบไว้แล้ว อยู่ในแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม”
2.โปรดสั่งการให้รีบดำเนินการทำแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ให้พร้อมจริงๆ คือ สามารถใช้แสดงในต่างประเทศได้ (กล่าวคือ มีชื่อ นามสกุล สถานที่ฉีดเป็นภาษาอังกฤษ วันเดือน ปี แบบสากล)
3.ขอให้กระทรวงต่างประเทศแจ้งนานาประเทศเพิ่มเติมตามข้อ 1 และ 2 เพื่อไม่ให้คนไทยมีปัญหาที่ด่านตรวจในต่างประเทศ
ลงชื่อ พิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา 7 พ.ย. 2564
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 86 views