ถึงกับงง! โซเชียลฯแชร์คนฉีดวัคซีน “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ด้าน สสจ.สระแก้วตรวจสอบเบื้องต้น พบคนหิ้วมาให้หมอคลินิกเอกชนฉีด มีค่าฉีด 2.8 พันบาท ขณะที่ แพทยสภา ขอพิจารณารายละเอียดหมอผิดจริยธรรมหรือไม่ เหตุฉีดให้ ทั้งที่ยังไม่มีการฉีดในรพ. หรืออนุญาตวงกว้าง ส่วน สบส. - อย. เผยตามหลัก วัคซีนต้องมาจากรพ. มีการนำเข้าถูกต้อง เพราะมีเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และป้องกันของปลอม ของไม่ได้มาตรฐาน
ตามที่สังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งในจ.สระแก้ว โดยมีค่าใช้จ่าย 2,800 บาท จนเกิดข้อสงสัยว่า วัคซีนดังกล่าวนำเข้ามาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะไทยยังไม่มีการนำวัคซีนดังกล่าวมาฉีดในประเทศนั้น
วันที่ 8 พ.ย. 2564 นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว(นพ.สสจ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อเดือน ต.ค.64 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้ลงพื้นที่ค้นหาคนฉีดที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากการฉีดวัคซีนในจังหวัด ยังครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเพียง 47% โดยกลุ่ม 608 ฉีดเพียง 55% ถือว่ายังไม่ถึงเป้าหมาย สูตรหลักที่ฉีดตอนนี้จะเป็นเข็ม 1 ซิโนแวค ตามด้วยเข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า เราจึงต้องรณรงค์ ค้นหาผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อเรียกมาฉีดให้มากขึ้น
“ขณะเดียวกัน เราพบว่ามีผู้นำใบรับรองแพทย์การฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ จากคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัด มาขอวัคซีนพาสปอร์ต(Vaccine Passport) แต่เราไม่พบข้อมูลการฉีดใน MOPH IC จึงไม่ได้ออกวัคซีนพาสปอร์ตให้ เพราะถือว่า ไม่ได้รับการฉีดจากภาครัฐ หลังจากนั้น ทาง สสจ. จึงลงไปตรวจสอบคลินิกเอกชนดังกล่าว ก็ไม่พบผลิตภัณฑ์วัคซีน ไม่มีการขายวัคซีนด้วย แต่แพทย์ยอมรับว่า มีการฉีดจริง อ้างว่าคนไข้เอามาให้ฉีด ซึ่งคนไข้ซื้อจากไหนไม่รู้ แล้วหิ้วมาให้หมอฉีด โดยเก็บค่าฉีด แต่คุณหมอที่คลินิกไม่ได้เป็นคนซื้อวัคซีนมาฉีด ซึ่งทางคลินิกอ้างว่าไม่รู้ว่าคนไข้นำวัคซีนมาจากไหน ส่วนจะเป็นวัคซีนของปลอมหรือไม่ เราไม่สามารถตอบได้ แต่น่าจะเป็นการแอบอ้างแล้วถือมาให้หมอฉีดให้” นพ.ประภาส กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีประชาชนถือวัคซีนจอห์นฯ ซึ่งเป็นวัคซีนโควิดที่อนุญาตใช้ในภาวะฉุกเฉินมาให้แพทย์ฉีดเอง โดยที่แพทย์ไม่ได้สอบถามว่าเป็นวัคซีนจากที่ใด ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ นพ.ประภาส กล่าวว่า ตนตรวจสอบฐานความผิดแล้ว ระบุว่า คลินิกห้ามซื้อยาหรือวัคซีนผิดกฎหมาย แต่ไม่พบความผิดตรงนี้ ส่วนการที่แพทย์ฉีดวัคซีนให้คนไข้ สามารถทำได้ เพราะแพทย์มีประกอบโรคศิลปะ มีดุลยพินิจที่จะฉีดให้ ซึ่งตรวจสอบกับทางกฎหมายแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ก็ได้นำเข้าระบบการตักเตือนไปแล้วให้ระมัดระวังการประกอบอาชีพโรคศิลปะ ขณะที่ เราก็จะตั้งคณะกรรมการสอบหาว่าวัคซีนดังกล่าวมาจากที่ไหน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนใดก็ตาม จะต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เท่านั้น สำหรับวัคซีนโควิด-19 ก็เช่นกัน ซึ่งวัคซีนจอห์นสันฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว โดยที่ผ่านมาสถานทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ได้นำเข้าวัคซีนจอห์นสันฯ ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อฉีดให้ประชากรของฝรั่งเศสที่พำนักไทย แต่ในส่วนสระแก้ว ต้องสอบถามทางนพ.สสจ.
ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า โดยหลักการวัคซีน ต้องเป็นวัคซีนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องไปดูว่าวัคซีนที่หิ้วมานั้นคืออะไร ผ่านกระบวนการเข้ามาอย่างถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการรับรองวัคซีนที่จะใช้นั้นจะมีเรื่องของความปลอดภัยด้วย เรื่องนี้ขอตรวจสอบไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เนื่องจากการทำงานของสบส. ทำงานร่วมกับทางจังหวัดและมอบอำนาจให้ สสจ. เป็นผู้อนุญาต และตรวจสอบ
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวต่อว่า วัคซีนที่จะฉีดได้ 1.ต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 2.วัคซีนต้องมีกลไกในการบริหารจัดการ โดยสถานพยาบาลเป็นเจ้าของวัคซีนนั้น เพราะจะมีเรื่องความลอดภัยในการจัดเก็บวัคซีน ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าจะเอาอะไรมาฉีดให้คนไข้ หมอต้องตรวจสอบคุณภาพวัคซีนว่าถูกต้องตามกฎหมายของไทยหรือไม่ นำเข้าถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นคนนำเข้า เพราะการฉีดวัคซีนจะส่งผลต่อการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ต้องระบุให้ชัดว่าเป็นวัคซีนยี่ห้ออะไร ล็อตนัมเบอร์อะไร และจะนำมาสู่การออกวัคซีนพาสปอตในอนาคตด้วย
ทพ.อาคม กล่าวต่อว่า ต่อให้ไม่ใช่วัคซีนป้องกันโควิด -19 แต่ยาหรือวัคซีนใดๆ ก็ตาม ตามหลักแล้วคนไข้มาที่คลินิก ทางคลินิกจะต้องใช้ยาหรือวัคซีนของคลินิกเองในการให้บริการคนไข้ หากคลินิกไม่มีกำลังเพียงพอจะมี 2 ส่วนที่ทำได้คือ 1.ประสานส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพกว่า และ 2.ประสานสถานพยาบาลอื่นๆ เพื่อขอยืมยา หรืออะไรก็ตามเพื่อมาให้บริการผู้ป่วย นี่คือหลักที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปเอาอะไรก็ไม่รู้มาฉีดให้ ยิ่งคนไข้หิ้วมาเองก็ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนจอห์นสันฯ มีการขึ้นทะเบียนในไทยจริง แต่ยังไม่มีเจ้าภาพในการนำเข้ามาฉีด ดังนั้นหลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะเกิดการหิ้ว หรือค้าวัคซีนเถื่อน ทพ.อาคม กล่าวว่า การนำเข้าวัคซีนปกติต้องผ่านอย. และคนนำเข้าควรเป็นสถานพยาบาล ต้องมีการจัดเก็บที่เหมาะสม เพื่อส่งต่อสถานพยาบาลที่เป็นลูกข่ายเพื่อฉีดต่อ เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบก่อน แต่คิดว่าคงไม่มีใครหิ้ววัคซีนข้ามชาติ เหมือนในอดีตที่มีคดีหิ้วอสุจิข้ามชาติเพื่อทำการอุ้มบุญผิดกฎหมาย แต่จะเป็นประเด็นเรื่องการเก็บไม่เหมาะสม ทำให้วัคซีนที่ฉีดไม่มีประโยชน์ เผลอๆ อาจจะมีปัญหาความแทรกซ้อน อีกเราห่วงความปลอดภัยเขามากกว่า
00 แพทยสภาเร่งตรวจสอบกรณีหมอคลินิกเอกชนในจ.สระแก้ว ฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ ที่ปชช.หิ้ว
พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ตามข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพ ปี 2549 มีหลายมาตราที่กล่าวไว้ในเรื่องนี้ โดยมาตรา 22 ระบุว่า แพทย์จะต้องไม่ประกอบวิชาชีพโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้นการให้ยาใดๆ จำเป็นต้องรู้ชนิด ขนาดของยา และความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยตามมาตรานี้ 2.ส่วนกรณีแพทย์ฉีดวัคซีนในกรณีที่ผู้ป่วยนำยาหรือวัคซีนมาเองก็สามารถทำได้ แต่ทำได้ในกรณีที่มีใบสั่งฉีดยา หรือมีประวัติ หรือมีข้อมูลจากรพ. เช่น รพ.จังหวัดให้ยากับผู้ป่วยไปฉีดที่รพ.สต.หรือคลินิกในยาบางรายการที่ใช้รักษา แต่ต้องมีผลการวินิจฉัย และรายละเอียดที่ติดต่อได้ของแพทย์ หรือใบรับรองแพทย์มาประกอบด้วย
ส่วนในกรณีที่สระแก้ว เนื่องจากวัคซีนชนิดที่ไม่มีในประเทศไทยนั้น นับว่ายังไม่ได้มีการรรับรองการใช้ที่ปลอดภัยในประเทศ ดังนั้นโดยทั่วไป ถ้าไม่ได้มีหลักฐานเอกสาร ปกติ แพทย์ไม่ควรจะตัดสินใจฉีดให้โดยไม่ทราบที่มาที่ไป แต่ในกรณีดังกล่าวต้องตรวจสอบยก่อนว่ามีเอกสาร หลักฐานอะไรกำกับหรือไม่ หรือเป็นเอกสารมาจากประเทศที่มีวัคซีนนี้ใช้อยู่หรือไม่ ในรายนี้ตอบไม่ได้จริงๆ ต้องสอบสวนที่มาที่ไปก่อน มีเอกสาร หลักฐานการฉีดมาจากต่างประเทศ และมีใบรับรองฉีดเป็นเข็มที่ 2 หรือไม่ อย่างไร หรืออื่นๆ หรือไม่ ที่สำคัญคือวัคซีนต้องมีกระบวนการจัดเก็บที่ถูกต้อง เพราะมีผลต่อคุณภาพของวัคซีน แล้วเป็นวัคซีนชนิดที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ถ้าจริงแล้วมีความปลอดภัยเพียงใดในการฉีด ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น หรือมีมีผู้ร้องเรียนแพทย์ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะนั้น แพทยสภาจะมีการทำหนังสือถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อขอรายละเอียดเหล่านี้เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
“ขอเตือนประชาชนว่าการฉีดยา หรือวัควีนใดๆ ให้กับตัวเองนั้นขอให้ดูที่มาที่ไปที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย โดยเฉพาะวัคซีน ต่างๆ นั้นมีความจำเป็นต้องรักษาสภาพ คุณภาพด้วยอุณหภูมิต่างกัน ก็ขอให้ตรวจสอบความปลอดภัย หากมีผู้โฆษณาว่าสามารถนำเข้ามาเพื่อไปฉีดได้ ก็ขออย่าเพิ่งเชื่อ ให้ตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อน ย้ำว่าความปลอดภัยไม่สามารถรับรองข้ามประเทศได้ วัคซีนชนิดหนึ่งที่ได้รับรองความปลอดภัยในประเทศหนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้รับการรับรองในประเทศหนึ่ง หากมีปัญหาเกิดขึ้น ท่านต้องรับผิดชอบตัวเอง” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว
00 อย.ตรวจสอบปมคนหิ้ว "วัคซีนจอห์นสันฯ" นำเข้าไทยโดยเข้า หากไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าผิดกม.
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า วัคซีนที่นำเข้าโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้า ก็ถือเป็นวัคซีนผิดกฎหมายทั้งหมด ถือว่าเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน แม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับทะเบียนแล้ว แต่ผู้นำเข้าไม่ใช่คนที่ได้รับอนุญาต ก็ถือว่าผิดกฎหมาย ยกเว้น บางกรณีของหน่วยราชการ เช่น กรมควบคุมโรค สถานทูต เพราะเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ จะประสานไปที่ สสจ.สระแก้ว โดยกลุ่มงานคุมครองผู้บริโภค เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจาก เราเป็นห่วงคนที่ไปฉีด ไม่รู้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ เป็นวัคซีนอะไร เพราะต้องเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาการลักลอบนำเข้าวัคซีนในประเทศ
“อันดับแรกต้องตรวจสอบว่า วัคซีนที่นำเข้ามาใช่วัคซีนจอห์นสันฯ หรือไม่ แต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าตอนนี้ คือ บริษัทแจนเซ่น ซีแลค จำกัด ดังนั้น หากเป็นคนอื่น ๆ บริษัทอื่นนำเข้ามา ถือว่าผิดทั้งนั้น เบื้องต้น การเอาเข้ามาโดยไม่รับได้อนุญาต ถือว่าผิด พ.ร.บ.ยา มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท” นพ.ไพศาล กล่าว
- 55 views