ที่ประชุม PHEOC เชียงใหม่ มอบ สปสช. ทำหน้าที่ “ศูนย์กลางประสานการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียวในระบบการรักษาที่บ้าน” ผ่าน “สายด่วน สปสช. 1330 กด 14” ร่วมรับมือวิกฤติโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ หลังผู้ติดเชื้อพุ่ง

นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ จำนวน 429 ราย รวมเป็นผู้ติดเชื้อสะสม 19,637 ราย ในจำนวนนี้ 4,831 ราย ยังคงรักษาตัวทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โรงพยาบาลสนาม และระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation / Community Isolation : HI/CI)

ด้วยแนวโน้มที่คาดว่าจะยังคงพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ในการประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ทาง PHEOC เร่งคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ตามนโยบายของ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 โดยระดมออกตรวจคัดกรองผู้สัมผัสเชื้อด้วยชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit หรือ ATK กระจายทั้ง 4 มุมเมือง พร้อมขยายระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน โดยความร่วมมือจากเทศบาลนครเชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนและหน่วยบริการในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสภากาชาดไทย ที่เข้าร่วม

ทั้งนี้ในส่วนบทบาทของ สปสช. นั้น ที่ประชุม PHEOC ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์กลางประสานการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียวในระบบการดูแลที่บ้าน” ผ่าน “สายด่วน สปสช. 1330 กด 14” ให้กับคนไทยทุกสิทธิการรักษาพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมีการประเมินอาการและประสานกับโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านโดยเร็วที่สุด     

นพ.เติมชัย กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันนี้ (8 พ.ย.2564) เป็นต้นไป ประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ 1330 จะประเมินอาการเบื้องต้น ประสานงานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ พร้อมลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน กรณีโรงพยาบาลประเมินแล้วพบว่าไม่สามารถให้การดูแลที่บ้านได้ จะประสานเข้าสู่ระบบการดูแลโดยชุมชน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลในพื้นที่โดยเร็วที่สุดเพื่อเข้ารับการดูแลรักษาตามอาการจนครบการรักษา ได้รับอุปกรณ์ ได้แก่ ที่วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน และอาหารครบ 3 มื้อในช่วงที่อยู่ในการรักษา รวมทั้งจะประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการเรื่องขยะติดเชื้อ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีการแย่ลงก็จะมีการประสานเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล

นพ.เติมชัย กล่าวต่อว่า เพื่อรองรับสถานการณ์ นอกจากร่วมเตรียมพร้อม รพ.สนาม และศูนย์พักคอยที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้แล้วนั้น ทาง สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ได้เตรียมประสานวัด และภาคประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมจัดระบบการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ส่วนการแจก ATK นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแผนการกระจาย เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org