สธ.เผยข้อมูลอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไขว้ "ซิโวแวค+แอสตร้าฯ" และวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ ภาพรวมเสียชีวิตภายหลังรับวัคซีน 1,296 ราย สรุปเกี่ยวข้องกับวัคซีน 3 ราย  มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 รายและอาการแพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก 1 ราย  

  

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 พ.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงข่าวกรณีอาการที่พบได้หลังฉีดวัคซีน ว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 77,831,474 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 43,112,788 ราย คิดเป็น 59.8 % เข็มที่ 2 จำนวน 32,223,467 ราย คิดเป็น 44.7% และเข็มที่ 3 จำนวน 2,495,219 ราย คิดเป็น 3.5 % ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่ยังมีการฉีดวัคซีนสะสมน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ ซึ่งพิจารณาจากอัตราการรับวัคซีนเข็มที่ 1 ได้แก่ จ.นครพนม บึงกาฬ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ สกลนคร แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด อ่างทอง สุรินทร์ และชัยภูมิ

     

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า อาการที่พบหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19แบบสลับชนิด (วัคซีนไขว้) และกระตุ้นเข็มที่ 3 ข้อมูล ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2564 จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  โดยการฉีดสลับเข็มซิโนแวคเข็ม1 และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ฉีดไปหลายล้านโดส แต่มีอาการที่ต้องรับเป็นผู้ป่วยใน 955 ราย  แยกเป็นไข้ 31.62 % ปวดศีรษะ 23.04% คลื่นไส้ 19.90 % อาเจียน 19.48 % และเวียนศรีษะ 17.80 %  มีรายงานผู้เสียชีวิต 205 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว ดังนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 30 ราย ,เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่  14 ราย,ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 7 ราย  และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 154 ราย  

 

      

กระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รักษาเป็นผู้ป่วยใน 163 ราย  เป็นไข้  35.58 % ปวดศีรษะ 31.29% คลื่นไส้ 23.31% ปวดกล้ามเนื้อ 22.09% อาเจียน 22.09 %  มีรายงานผู้เสียชีวิต 10 ราย  คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 2 ราย อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 8 ราย  

      

กระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยไฟเซอร์ หลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รักษาเป็นผู้ป่วยใน 48 ราย  โดยเวียนศีรษะ 27.08 % ไข้  22.92% ปวดศีรษะ 20.83 % คลื่นไส้ 20.83 % เจ็บแน่นหน้าอก 18.75 % มีรายงานผู้เสียชีวิต 6 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว ดังนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 1 ราย ,ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่  1ราย,ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 1 ราย  และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 3 ราย  

        

ภาพรวมผู้เสียชีวิต ภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่รับรายงาน 1,296 ราย  คณะผู้เชี่ยวชาญได้รับพิจารณาแล้ว 842 ราย  ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 541 ราย เช่น เลือดออกในสมอง 37 ราย  ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง 2 ราย ปอดอักเสบรุนแรง 257 รายในจำนวนนี้เป็นโควิด 243 ราย  ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 4 ราย โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 109 ราย  มะเร็งปอด 6 ราย  มะเร็งเต้านม 2 ราย มะเร็งท่อน้ำดี 1 ราย มะเร็งบริเวณคอหอยหลังช่องปาก 1 ราย   ภาวะอื่นๆ เช่น เลือดออกในช่องท้อง 8 ราย  รับประทานเห็ดพิษและตับวาย 2 ราย โรคอื่นๆ 55 ราย ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 29 ราย  คาดว่าน่าจะไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนให้รอผลชันสูตร และข้อมูลเพิ่มเติม 28 ราย 

"เหตุการณ์ที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 3 ราย  มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 รายและอาการแพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก 1

 

เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่  66 ราย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 47 ราย  เลือดออกในสมอง 5 ราย ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกัลเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย ระบบหายใจล้มเหลว 1 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  1 ราย  ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิต 1 ราย  รอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตรศพ 9 ราย ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 41 ราย และรอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตร และข้อมูลเพิ่มเติม  191 ราย" นพ.เฉวตสรร กล่าว 

     

สำหรับผลการดำเนินงานการรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยสะสม ณ  3 พ.ย.2564 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 7,124 คน จำแนกตามประเภทเดินทาง Test & Go  6,305 คน  Sandbox 270 คน การกักตัว 549 คนแยกเป็น กักตัว 7 วัน 160 คน และกักตัว 10 วัน 389 คน  โดยมีผู้ติดเชื้อ 4 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.06 %