สปสช.จับมือ HITAP เปิดตัวเว็บไซต์ "UCBP" เป็นช่องทางเสนอความคิดเห็นในการพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทอง พร้อมแนะประชาชนเสนอความคิดเห็นเข้ามาเยอะๆ อย่ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือเสนอมาแล้วคงไม่ถูกนำไปพิจารณา ยกตัวอย่างระบบ Home Isolation ก็มาจากข้อเสนอแนะของประชาชน
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จัดงานเปิดตัวเว็บไซต์ ucbp.nhso.go.th ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมหัวข้อที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ การขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์เดิม รวมทั้งเป็นช่องทางเสนอหัวข้อการเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แต่ละปี สปสช.มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ทั้งเพิ่มสิทธิการรักษาโรคใหม่ๆ เช่น โควิด-19 หรือวิธีการรักษาแบบใหม่ เช่น ผ่าตัดส่องกล้อง ยาใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในอดีตจะใช้วิธีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ในปัจจุบัน สปสช.พัฒนาช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ ucbp.nhso.go.th ไลน์ @nhso หรือแม้แต่โทรมาที่สายด่วน 1330 ก็ได้ ทุกข้อเสนอ ทาง สปสช.จะรับฟังและนำไปประมวลว่าจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบบัตรทองให้ดีขึ้นได้อย่างไร
"อยากให้ประชาชนสนใจเรื่องสิทธิประโยชน์และเสนอความคิดเห็นเข้ามาเยอะๆ อย่าคิดว่าข้อเสนอของตัวเองคงไม่ได้รับฟังหรือถูกนำไปพิจารณา ผมยกตัวอย่างโควิด-19 ช่วงต้นปีมีประชาชนส่งข้อมูลมาว่าที่ประเทศอังกฤษเขาให้ประชาชนรักษาตัวที่บ้าน เรารับฟังแล้วให้เจ้าหน้าที่หาข้อมูล แล้วก็นำไปหารือกับกรมการแพทย์ จนมีการพัฒนาการจนมาเป็นระบบ Home Isolation ดังนั้นอย่าคิดว่าการเสนอหัวข้อพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทองเป็นเรื่องไกลตัว วันนี้เรามีช่องทางหลายช่องทาง ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทุกคนสามารถเสนอเข้ามาได้เลย" นพ.จเด็จ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามภายหลังว่า เว็บไซต์ "UCBP" เข้ามาช่วยขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์ในอนาคตอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า จริงๆในเรื่องสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพส่วนสำคัญที่ยังขาดอยู่ก็คือเสียงจากพี่น้องประชาชน เราพยายามดูว่าช่องทางอะไรที่ประชาชนจะพอคุ้นเคยหรือส่งข้อมูลเข้ามาได้ เนื่องจากในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน เวลาที่เราจะรับฟังประชาชนเราต้องมีการจัดการในกระบวนการต่างๆ ต้องไปเชิญพี่น้องประชาชนหรือตัวแทนเข้ามาซึ่งบางคนที่มาไม่รู้เป็นตัวแทนจริงหรือไม่ แต่มาวันนี้ เริ่มมีเทคโนโลยี ที่ประชาชนทั่วไปพอจะเข้าใจ ซึ่งถ้าเรามีโอกาสให้ประชาชนส่งเรื่องเข้ามาก็น่าจะเป็นประโยชน์ เช่น การใช้เว็บไซต์ LINE Facebook Twitter เป็นต้น จริงๆเมื่อ 2 เดือนก่อน เรามีมติกันแล้วว่าช่องทางทั้งหมดที่พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงได้จะเป็นช่องทางหลักที่พี่น้องประชาชนจะหาข้อมูลหรือส่งข้อมูลเข้ามาได้
ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า การส่งข้อมูลสิทธิประโยชน์เข้ามา ระบบจะมีการคัดกรองหรือแตกต่างจากเดิมอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนการรับข้อมูล จะมีคณะกรรมการช่วยกันดู เพราะ 1ปี จะมีเรื่องเข้ามาเป็นพันเรื่อง ไม่ใช่แค่หลักสิบหลักร้อย กรรมการจะดูว่าเรื่องที่ส่งมาซ้ำกันไหม เนื่องจากประชาชนบางคนพูดเรื่องเดียวกันแต่ใช้คำถามที่แตกต่างกัน อย่างเช่น เรื่องเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เรื่องเทคโนโลยีส่แงทางกล้อง เรื่องการตรวจยีนส์ เป็นต้น ที่เรานำมาพิจารณาให้เป็นเรื่องเดียวกัน หรือเรื่องที่เคยเสนอมาแล้วแต่ยังอยู่ในกระบวนการ เราก็จะมากรองหรือดูกันว่าอะไรคือเรื่องใหม่ๆ
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเป็นโรคที่ราคาแพงหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ไม่จำเป็นเลย แล้วก็บางอันเป็นเรื่องการบริการ ซึ่งจริงๆอยู่ในสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว อย่างเช่น สมัยก่อนเราต้องไปลงทะเบียนกับคลินิก โรงพยาบาลหรือรพ.สต.ใกล้บ้าน ซึ่งมีคนถามว่า "ทำไมเราต้องไปใกล้บ้าน เราอยากไปได้ทุกที่" แต่ทุกวันนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปรับบริการเบื้องต้นได้ทุกที่
"สุดท้ายเราอยากประชาสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนว่า ถ้าท่านมีประเด็นที่ไปรับบริการแล้วไม่ได้รับความสะดวกหรือมีความคิดเห็น สามารถส่งเข้ามาได้เลย อย่าไปคิดว่าคำถามเราจะเชยไหม คำตอบเราจะเชยไหมหรือเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไปไหม เราอยากให้ท่านส่งคำถามมาก่อน เพราะจะมีคณะกรรมการพิจารณาคำถามของท่านอยู่แล้ว" นพ.จเด็จ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 142 views