ประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย)  ส่งเสียงถึงผู้บริหาร สธ. ขอสนับสนุน อบจ. ร่วมจัดการระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อประโยชน์ประชาชน  พร้อมย้ำ! เมื่อบุคลากร รพ.สต.ถ่ายโอนแล้ว ความก้าวหน้าสายงานมีแน่นอน

ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เกิดคำถามว่า ขั้นตอนการถ่ายโอนเป็นอย่างไร และข้อดี รวมทั้งข้อจำกัดหาก รพ.สต.ถ่ายโอนไปแล้วจะเป็นอย่างไร

เรื่องนี้ได้รับคำตอบจาก "นายสมศักดิ์ จึงตระกูล"  ประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย)  ให้ข้อมูล ว่า  ปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศมีจำนวน 9,863 แห่ง มีการถ่ายโอนไปยัง อบต. แล้ว 51 แห่ง และถ่ายโอนไปยังเทศบาลนครแล้ว 24 แห่ง ส่วนที่เหลือเตรียมถ่ายโอนไปยัง อบจ. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ในปีงบประมาณ 2566 โดยคาดว่าจะมี รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนไปไม่ต่ำกว่า 35-40 แห่ง และภายใน 3 ปี จะสามารถถ่ายโอนโรงพยาบาลไปยัง อบจ. ได้ไม่ต่ำกว่า 80-90%

ข้อดีของการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไป อบจ. จะทำให้บุคลากรทุกตำแหน่ง ทุกสายงานใน รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปนั้น  มีโอกาสเลื่อนระดับสูงขึ้นแน่นอน โดยตำแหน่งสายงานวิชาการ สามารถประเมินขึ้นระดับชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ และตำแหน่งสายงานทั่วไป สามารถประเมินเลื่อนระดับอาวุโส ในเลขตำแหน่งของตนเอง

อีกทั้ง สายงานทั่วไปที่มีวุฒิปริญญา ก็สามารถสอบเปลี่ยนสายงานเป็นวิชาการได้ และหากมีคุณวุฒิที่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของท้องถิ่น ก็ยังจะสามารถสอบเปลี่ยนสายงาน เป็นอำนวยการ และสอบเปลี่ยนสายงานเป็นนักบริหารท้องถิ่นได้อีกด้วย

สืบเนื่องจากคู่มือแนวทางการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. เป็นมติของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ประกาศราชกิจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 เป็นอนุบัญญัติ เป็นกฎที่มีสภาพบังคับแล้ว อีกทั้งเป็นการการันตีว่ารัฐบาลสนับสนุนการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ.  และสนับสนุนงบประมาณเพื่อการถ่ายโอน ครั้งนี้ด้วย

"อยากให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ใช้โอกาสนี้ในส่งเสริมและสนับสนุนให้ อบจ. ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ในจังหวัด ร่วมจัดการระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ และการสาธารณสุข ให้เป็นผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษา ควบคุมกำกับ และวางระบบสุขภาพ ปฐมภูมิ ตลอดจนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562" ประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย)"  นายสมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าว Hfocus ถามย้ำว่า แสดงว่าจะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ความก้าวหน้านั้นจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากได้มีการเขียนไว้ในคู่มือแนวทางการถ่ายโอน และประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ปรากฏตามโครงสร้างรพ.สต. ถ่ายโอนให้ อบจ. ให้มีการเลื่อนไหลสายงานวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับเชี่ยวชาญได้ในตำแหน่งของตนเอง เหมือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ส่วนสายทั่วไปตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ก็สามารถเลื่อนไหลไปที่ระดับอาวุโสได้ทุกคน ทุกตำแหน่ง ทั้งคนที่เป็น ผอ.รพ.สต. และเป็นผู้ปฏิบัติทุกตำแหน่ง  อีกทั้ง ยังสามารถสอบคัดเลือก  หรือคัดเลือกกรณีพิเศษได้ตามระเบียบฯ ของท้องถิ่นอีกด้วย นอกจากนี้ คนที่มีวุฒิปริญญา ก็สามารถที่จะสอบเปลี่ยนตำแหน่งสายงานไปเป็นสายอำนวยการ และนักบริหารท้องถิ่นได้

“สำหรับข้อเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คือ อยากให้ผู้บริหารได้ส่งเสริมและสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้การร่วมจัดการกับ อบจ. ให้เกิดผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่ามติคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เป็นกฎหมายชั้นอนุบัญญัติ มีสภาพเป็นกฎถือบังคับใช้ ที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม จึงอยากให้รีบปรับบทบาทเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน ควบคุมกำกับมาตรฐาน และคุณภาพบริการปฐมภูมิ เพื่อประชาชน” นายสมศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง ขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไปยัง อบจ. เบื้องต้น เริ่มจาก
-อบจ.จะต้องยื่นคำขอรับการประเมินความพร้อมรับการถ่ายโอน ภายในวันที่ 15 พ.ย. 2564
-จากนั้นคณะอนุกรรมการจะพิจารณาอนุมัติ โดยแบ่งเป็น อบจ.ที่ผ่านเกณฑ์ชี้วัดน้อยกว่า 70% จะรับถ่ายโอนได้ไม่เกิน 30 แห่ง แต่ผ่านเกณฑ์ชี้วัด 70-90% รับถ่ายโอนได้ไม่เกิน 60 แห่ง ส่วน อบจ.ที่ผ่านเกณฑ์ชี้วัด 90% ขึ้นไป สามารถรับถ่ายโอนได้
-การถ่ายโอนต้องเร่งของบประมาณไปให้ทันภายในวันที่ 15 ม.ค. 2565 โดย อบจ.จะต้องทำคำของบประมาณไปที่สำนักงบประมาณ รวมทั้งการจัดหาตำแหน่งเพิ่มรองรับ รวมถึงค่าตอบแทนอื่นที่ติดตัวข้าราชการด้วย ฯลฯ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดมุมมอง: ข้อดีข้อเสียถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ท้องถิ่น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : มีผลแล้ว! ประกาศถ่ายโอนภารกิจ "รพ.สต." ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมแนวทางดำเนินการ

ติดตามแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจฯ คลิกที่นี่

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org