ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) มองข้อดีข้อเสียกรณีประกาศถ่ายโอนภารกิจ “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” สู่ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” พร้อมตั้งข้อสังเกตคน รพ.สต.เริ่มอยากออกจาก สธ. เหตุขาดการดูแลเต็มที่ ไร้ความก้าวหน้า อัตรากำลัง งบประมาณ ย้ำ! หากไม่ดูแล รพ.สต.แห่ออกเหมือนเลือดไหลไม่หยุด กระทบการทำงานสาธารณสุขวงกว้าง อสม.ต้องไหลตามด้วย
ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยผู้ลงนาม คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จากประกาศดังกล่าวเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสาธารณสุข ว่า ควรถ่ายโอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดดีหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่า หากไปอาจมีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งมากกว่า แต่อีกส่วนก็กังวลว่า หากไปแล้วและไม่เป็นไปอย่างที่คิด จะไม่สามารถขอโอนกลับมาภายใต้กระทรวงสาธารณสุขอีก
(ข่าวเกี่ยวข้อง : มีผลแล้ว! ประกาศถ่ายโอนภารกิจ "รพ.สต." ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมแนวทางดำเนินการ)
นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ Hfocus เรื่องนี้ ว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้มีการถ่ายโอนสำหรับกลุ่มที่สมัครใจหรือมีความพร้อม แต่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ต้องทบทวนภารกิจไม่ให้เลือดไหลออก เพราะอย่าลืมว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เป็นเหมือนแขนขาในการทำงาน โดยเฉพาะงานปฐมภูมิ การทำงานในพื้นที่ ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ซึ่งหากถ่ายโอนไป อสม.ก็จะไปด้วยตามพื้นที่นั้นๆ
“การถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ เป็นทางเลือกของคน รพ.สต. ซึ่งจริงๆ กฎหมายการถ่ายโอนมีตั้งแต่พ.ศ.2542 แต่กระบวนการถ่ายโอนไปได้เพียง 70 กว่าแห่งจากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (ปัจจุบันมีรพ.สต.เกือบ 1 หมื่นแห่ง) แต่ครั้งนี้น่าสนใจตรงที่มีปรากฎการณ์คนในรพ.สต.เริ่มพูดกันมากถึงการออกจากกระทรวง โดยจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันพบว่า เริ่มอยากไปเช่นกัน เพราะเงื่อนไขการถ่ายโอนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ทั้งรพ.สต. และ อบจ. จากนั้นจึงอยู่ที่การประเมินของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อเป็นไปด้วยความสมัครใจ ก็น่าคิดว่าอาจอยากไปมากขึ้น” นายริซกี กล่าว
นายริซกี กล่าวอีกว่า ตนวิเคราะห์ว่า กรณีรพ.สต.ที่อยากโอนภารกิจนั้น ประเด็นสำคัญ คือ ความก้าวหน้าในสายงาน สังเกตว่า ตั้งแต่มีรพ.สต. มาเป็น 100 ปี ความก้าวหน้ายังอยู่แค่ชำนาญการ คนที่จะขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษน้อยมาก ประเมินแล้วได้เพียงจังหวัดละ 1 คน การจะขึ้นได้ก็ต้องสอดคล้องกับพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ต้องทำงานกับ PCC (คลินิกหมอครอบครัว) ซึ่งเงื่อนไขไม่เอื้อต่อคนทำงาน รพ.สต.เลย ซึ่งขณะนี้หลายคนกำลังรอดูท่าทีความก้าวหน้าของ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว และรอดูทิศทางกระทรวงสาธารณสุขในการดูแล รพ.สต.ที่ยังอยู่ ว่าจะให้ความสำคัญอย่างไร เพราะถ้ากระทรวงฯ ยังไม่ดูแลคน รพ.สต.อีกเช่นเดิม กลุ่มพลังเงียบ อาจเป็นเลือดไหลออกไม่หยุด ถ่ายโอนไปท้องถิ่นเรื่อยๆก็เป็นได้
นายริซกี สาร๊ะ
“สรุป คือ ที่อยากไปก็เป็นติดขัดเรื่อง เงิน คน ของ ทั้งความก้าวหน้า งบประมาณ อัตรากำลัง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ดูแลให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพ มีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพสูงมาก อย่างการบรรจุข้าราชการสธ.รอบแรก และรอบใหม่ก็ยังรู้สึกว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับระดับ รพ.สต.เท่าไหร่ งบประมาณที่ผ่านมาก็ไม่ส่งตรง รพ.สต. โดยสปสช.จัดส่งให้รพ. อย่างโรงพยาบาลชุมชนก็จะเป็นผู้จัดสรรมาอีก และรพ.สต.ยังต้องมานั่งคีย์ข้อมูลการทำงาน เพื่อทำให้ได้ตามเกณฑ์ชี้วัด (KPI) ตรงนี้จึงต้องอยู่ที่กระทรวงฯ จะให้ความมั่นใจกับบุคลากรในรพ.สต.ที่ยังอยู่กระทรวงสาธารณสุขมากน้อยแค่ไหน” นายริซกี กล่าว
นายริซกี กล่าวว่า สำหรับข้อดีข้อเสียของการถ่ายโอนนั้น ข้อดีของการถ่ายโอน คือ ความก้าวหน้าในสายงานมีโอกาสมากกว่า เพราะคนที่ถ่ายโอนไปการขึ้นตำแหน่งชำนาญการพิเศษ มีมากกว่าอยู่กระทรวงฯ จะมีลักษณะคล้ายครู ที่สามารถทำเรื่องเลื่อนระดับได้ งบประมาณก็ได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องรอจากสปสช.ที่โอนผ่านรพ. และรพ.สต.ต้องมาคีย์ข้อมูลเข้าระบบอีก แต่ท้องถิ่นจะมีงบให้ต่างหากเพิ่มมาอีกเฉลี่ย รพ.สต.ละ 1 ล้านบาท อัตรากำลังท้องถิ่นอาจจัดสรรให้ครบหรือมากกว่า สธ. เพราะที่ผ่านมา สธ.ไม่เคยจัดสรรคนครบตามกรอบของรพ.สต.
เลขาธิการชมรมฯ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสียของการถ่ายโอน คือ การเมือง บางพื้นที่อาจกระทบการทำงาน หากไม่สนองนโยบายนักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ การบรรจุกรณีพิเศษอย่างช่วงโควิด หากไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข ย่อมไม่ได้ง่าย ซึ่งส่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุขชัดเจนกว่า ส่วนข้อเสียอื่นๆ ต้องรอคนที่ถ่ายโอนไปท้องถิ่น แล้วอยากโอนกลับมากระทรวงฯ ต้องเป็นผู้ให้ข้อมูล ดังนั้น จะเห็นว่า มีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะข้อดีของกระทรวงคือ มีเรื่องการบรรจุข้าราชการกรณีพิเศษอย่างโควิด19 ขณะที่หากอยู่สธ.มีเรื่องค่าตอบแทนวิชาชีพ คาดว่าจะเริ่มจากสธ.เป็นต้นแบบก่อน หลังกำหนดตำแหน่งใหม่เสร็จ
“สิ่งสำคัญกระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างความมั่นใจว่า หากบุคลากร รพ.สต.ไม่ถ่ายโอนไป จะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ดูแลแค่บางวิชาชีพ เพราะที่ผ่านมามีไม่กี่วิชาชีพที่ก้าวหน้า เติบโต ถึงชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ ทรงคุณวุฒิ ระดับผู้บริหารระดับต่างๆ มีแค่วิชาชีพเดียวที่มีโอกาสเติบโต แต่ รพ.สต. กลับไม่มีตัวตนในแง่โครงสร้างส่วนภูมิภาค ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ค่าตอบแทนต่างๆ บางวิชาชีพ มีค่าตอบแทนต่างกันหลักแสนบาทต่อเดือน มากกว่าเงินเดือน 5-6 เท่า ในขณะที่บางวิชาชีพไม่มีค่าตอบแทน หรือมีแค่หลักร้อย หลักพัน”นายริซกี กล่าว
ดังนั้น จึงขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข สกัดเลือดไม่ให้ไหลออก ดังนี้
1.ควรจัดตั้งกรมปฐมภูมิ ดูแลรพ.สต.ที่เหลือจากการถ่ายโอน และดูแลความก้าวหน้า คน เงิน ของ รพ.สต.
2.กระทรวงสาธารณสุข ควรให้ความสำคัญ กับcareer path ทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน เร่งการกำหนดตำแหน่งใหม่ ให้วิชาชีพน้องใหม่(นักสาธารณสุข) เร่งการปรับเจ้าพนักงานเป็นนักวิชาการ เร่งการบรรจุ และดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ เช่นค่าตอบแทนต่าง
3.กระทรวงสาธารณสุข ควรกำหนดให้รพ.สต. อยู่ภายใต้ กรมปฐมภูมิ และเป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคที่มีตัวตน และสามารถโอนงบประมาณตรงลงรพ.สตโดยตรง
“ถ้ากระทรวงสาธารณสุข ยังอยากมี รพ.สต. เป็นแขน ขา ก็ต้องดูแลรพ.สต.ในทุกมิติจริงๆ ไม่ใช่แค่วาทะกรรม แต่ต้องดำเนินการไม่ให้เลือดไหลออกไปในอนาคต” นายริซกี กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-“ผศ.ดร.จรวยพร” มุมมองนักวิชาการ สวรส. เสนอถ่ายโอน “รพ.สต.” ไป อบจ. แบบไหนเหมาะสม!!
-ชมรม ผอ.รพ.สต.ส่งเสียงถึงผู้บริหาร สธ.ขอหนุนถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ.
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 37050 views