เผยคนไทย 38 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน ต้นเหตุป่วยพุ่ง! โรคหัวใจ-หลอดเลือดสมอง-ปอดอุดกั้นเรื้อรัง-มะเร็งปอด WHO ชี้ มลพิษทางอากาศภัยคุกคามสุขภาพ เสนอเกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่ ป้องชีวิตคนไทย 1.7 แสนราย/ปี สสส. หนุนงานวิชาการ มุ่งปรับแก้มาตรฐานคุณภาพอากาศตรงจุด
ดร.อุมา ราชรัฐนาม ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในงานประชุมออนไลน์ หัวข้อ “ประเทศไทยไปทางไหน ต่อเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ของ WHO” ว่า มลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมาเป็นเวลานานกว่า 15 ปี ถือเป็นภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก ในเดือนตุลาคม ปี 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศฉบับใหม่ในรอบ 15 ปี ให้ต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อปี 2548
โดยระบุระดับคุณภาพอากาศสำหรับฝุ่น PM 2.5 ให้มีค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กำหนดเป็นค่ามาตรฐานเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกำหนดเป้าหมายทางนโยบาย รวมถึงเป็นเครื่องมือในการออกแบบมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และปกป้องสุขภาพของประชาชน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศต้นเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตจากทั้งหมดของประเทศ สอดคล้องกับในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 73 ปี 2561 ประกาศที่ให้มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยความเสี่ยง 1 ใน 5 ร่วมกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีกิจกรรมทางกาย สสส. ตระหนักถึงผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้น จึงมุ่งขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. เน้นขยายผลจากระดับปัจเจกหรือระดับพื้นที่ นำไปสู่การผลักดันนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับสภาลมหายใจ 8 จังหวัดภาคเหนือ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในระดับภูมิภาค เช่น ลดการเผาภาคเกษตร จัดทำแนวกันไฟชุมชน พร้อมจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อพัฒนางานวิชาการที่ตอบโจทย์บริบทของสังคม เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้เป็นแนวทางการทำงานแต่ละพื้นที่ มุ่งผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ลดปัญหามลพิษอากาศที่ส่งผลกระทบสุขภาพคนในประเทศ
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทย 38 ล้านคน อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในจำนวนนี้ 15 ล้านคน เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคทางเดินหายใจ ในปี 2560-2563 พบคนไทยป่วยจากโรคที่เกิดจากการกระตุ้นของมลพิษอากาศ 4 โรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอด เมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมีมูลค่าสูงเกือบ 200,000 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งหากคุณภาพอากาศดีขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มของค่าใช้จ่ายทางสุขภาพลดลงตามไปด้วย
รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า ผลประโยชน์ด้านสุขภาพที่ได้จากการควบคุมมลพิษทางอากาศในประเทศไทย เมื่อทำการเปรียบเทียบค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศตามเกณฑ์แนะนำของ WHO ระหว่างค่ามาตรฐานเดิมในปี 2548 กับค่ามาตรฐานใหม่ปี 2564 พบว่า หากประเทศไทยใช้เกณฑ์แนะนำเดิมที่ค่าเฉลี่ยรายปี 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 110,000 รายต่อปี คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์ด้านสุขภาพ 3.75 ล้านล้านบาทต่อปี และหากใช้เกณฑ์แนะนำปี 2564 ที่ค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 170,000 รายต่อปี คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์ด้านสุขภาพถึง 5.82 ล้านล้านบาทต่อปี
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 627 views