วงเสวนา แฉ ยุคโควิด ทำปัญหาความรุนแรงในครอบครัว-ทางเพศ พุ่งสูงปรี๊ด แต่การให้ความช่วยเหลือกลับสวนทาง ล่าช้า จนท.ขาดความรู้ความเข้าใจ ผลักภาระให้ประชาชน ส่งผลให้ประชาชนไร้ที่พึ่ง แห่ขอความช่วยเหลือผ่านออนไลน์ สลด หลายกรณีต้องสังเวยชีวิต
วันนี้ (21 ตุลาคม 2564) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ความรุนแรงทางเพศกับการเข้าถึงความยุติธรรมในช่วงโควิด” นำโดยนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันยาวนานขึ้น ประกอบกับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาทะเลาเบาะแว้ง เกิดความรุนแรงทั้งทางร่างกาย ความรุนแรงทางเพศ ปรากฏในพื้นที่สาธารณะ และโลกออนไลน์ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์โควิดทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยากขึ้นด้วย
เมื่อเป็นเช่นนั้น สค. จึงได้ปรับปรุงกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงภายในครอบครัว ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ.2550 ตั้งแต่การรับแจ้งเหตุ การเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย การซักซ้อมแนวทางและกำชับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือทันทีโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหาย
มีการเสริมพลัง Empowerment ฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหาย ประสานทีมสหวิชาชีพและภาคีเครือข่าย และส่งต่อตามสภาพความจำเป็นของปัญหา เช่น การให้บริการด้านกาย จิต สังคม กฎหมาย และการติดตามและประเมินผลต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการชดเชยเยียวยา เกิดกลไกศูนย์เรียนรู้อบรมทักษะอาชีพ มีทุนประกอบอาชีพ มีรายได้
“สิ่งสำคัญคือหากพบเห็นความรุนแรงในครอบครัวอย่านิ่งเฉย สามารถติดต่อสายด่วน1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอรับบริการให้คำปรึกษาด้านสตรีและครอบครัวโดยผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไลน์แอดแฟมิลี่ (@linefamily) และเว็บไซต์เพื่อนครอบครัว (www.เพื่อนครอบครัว.com)” นางจินตนา กล่าว
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มูลนิธิฯ พบปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น และได้ให้ความช่วยเหลือหลายเคส เช่น ข้าราชการชายข่มขืนผู้หญิง อาศัยเงื่อนไขโควิดประวิงเวลา ถ่วงคดีไม่ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวน ทำให้คดีอาญา ความผิดทางวินัย เป็นไปได้ล่าช้า
นอกจากนี้ยังมีกรณีชาวต่างชาติทำร้ายร่างกายภรรยาสาหัสและนำทรัพย์สินหลบหนีไป ทั้งยังใช้สื่อออนไลน์กล่าวหาใส่ร้าย เผยแพร่ภาพทำให้เกิดความอับอาย จนแม่ฝ่ายหญิงต้องก้มลงกราบตำรวจเพื่อให้รับแจ้งความ และมีกรณีพ่อข่มขืนลูก เป็นต้น ขณะเดียวกันเพราะการระบาดของโควิด ทำกระบวนการทางกฎหมายล่าช้า ยุ่งยากในการเลื่อนนัดฟังคดี ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น บางกรณีนำมาสู่การเสียชีวิตได้
“ปัญหาที่เราเจอคือ เมื่อผู้ถูกกระทำไปแจ้งความ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่รับเรื่องบางคน ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะขณะนี้มีการแก้กฎหมายแล้ว คือ คดีข่มขืนทางเพศยอมความไม่ได้ สอดคล้องกับข้อมูลที่เครือข่ายผู้ก้าวข้ามความรุนแรง สะท้อนว่าตำรวจต้องมีความเข้าใจ รีบเร่งรัดดำเนินคดี ให้บริการที่เป็นมิตร ไม่ตำหนิไม่ตีตรา เพื่อป้องกันสถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงแก่ความตาย
กรณีผู้เสียหายเป็นผู้พิการควรมีล่ามให้บริการ ที่สำคัญตำรวจต้องไม่เกรงใจผู้ที่มีสถานะเหนือกว่าทางสังคม ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ สอบถามสืบค้น ต้องมีทักษะช่วยเหลือได้ทันท่วงที และฝากถึงผู้ถูกกระทำความรุนแรงต้องกล้าลุกมาปกป้องสิทธิของตัว กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลดทอนความกลัวและความอาย ผู้ที่ควรอายต้องเป็นผู้กระทำความผิด เพราะมีโทษตามกฎหมาย” น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าว
ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า มีข้อมูลทางเศรษฐกิจบ่งชี้ชัดเจนว่า ความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ประเทศ 0.5% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายอย่างมหาศาล
ซึ่งช่วงสถานการณ์โควิด ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกลไกการบริหารจัดการกำลังคน เป็นไปด้วยความล่าช้าและไม่ถูกคลี่คลาย จนนำไปสู่การถูกกระทำซ้ำ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีการขอความช่วยเหลือผ่านโซเซียลมีเดียเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะคนพึ่งพาระบบราชการไม่ได้ หรือหน่วยงานรัฐไม่สามารถตอบสนองให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้องทันท่วงที ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงตัวเองกับระบบการทำงาน เพื่อรองรับกับสถานการณ์ความรุนแรงในยุคโควิดให้มากกว่านี้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ยังไม่นับคดีความอีกจำนวนมากที่ค้างอยู่และถูกเลื่อนออกไปให้ล่าช้าอีกด้วยซ้ำ เช่น คดีอาญาถูกเลื่อนออกไปไม่น้อยกว่า 6 เดือน ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม กระทบต่อการบำบัดฟื้นฟูผู้เสียหาย แม้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพยายามใช้ระบบการรับคดีและการพิจารณาคดีแบบออนไลน์ เช่น ศาลยุติธรรม แต่บางหน่วยยังขาดระเบียบรองรับ ขาดทั้งเรื่องเทคโนโลยี กำลังคน และงบประมาณ สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ใส่ใจแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเพียงพอ ในท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
- 144 views