กรมแพทย์แผนไทยฯ เผย ภูมิปัญญาการนวดกษัย (โรคนกเขาไม่ขัน) เป็นการรักษาร่วม  ต้องดูแลควบคู่ระหว่างก่ายกับจิต หากรักษาด้วยวิธีนี้ ต้องไม่นวดหรือสัมผัสกับอวัยวะเพศโดยตรง  ประชาชนควรปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือผู้ประกอบวิชาชพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชน หรือหมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า โรคกษัยหรือโรคนกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวเต็มที่ หรือแข็งตัวน้อยกว่าปกติ หรือไม่แข็งตัวเลย มักพบในผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป 

สาเหตุของการเกิดโรคแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ 

  1. เกิดจากความบกพร่องทางร่างกาย เช่น การได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนกับนระบบประสาทบริเวณหลังส่วนล่างและกระเบนเหน็บ, การมีฮอร์โมนเพศชายต่ำ, มีโรคประจำตัว (โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันและไขมันในเลือดสูง), สูบบุหรี่จัด, ดื่มแอลกอฮอร์, การแช่น้ำร้อน, การใช้ยาลดความดันโลหิตและยาต้านซึมเศร้า และความเสื่อมตามวัย 
  2. เกิดจากความบกพร่องทางจิตใจ เช่น ความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการทำงาน

การตรวจและการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์แผนไทยจะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ซึ่งจะมีการตรวจบริเวณท้องน้อย กล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง กระเบนเหน็บ กล้ามเนื้อ บ่า ต้นคอ และจะมักพบว่ามีอาการแข็งเกร็ง 

ส่วนวิธีการนวดรักษาโรคนี้ จะอ้างอิงวิธีการนวดตามตำราการแพทย์แผนไทยพระคัมภีร์โรคนิทานคำฉันท์ 11 ซึ่งจะนวดเกือบทุกส่วนของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อแขน ขา หลัง กระเบนเหน็บ คอ บ่า ไหล่ โดยจะมีจุดเน้นบริเวณท้องน้อยตามแนวเส้นสิขิณีและสุขุมัง (เส้นประธานสิบที่ควบคุมระบบขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ และการหลั่งน้ำอสุจิ) ซึ่งจะไม่มีการนวดหรือสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศแต่อย่างใด 

การนวดรักษาโรคนี้ควรปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่อยู่ในสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชน หรือหมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐหรือสภาการแพทย์แผนไทย

การปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโรคนี้ คือ ควรงดการสูบบุหรี่ ลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ครบ 3 มื้อ หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ฯ 

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line@DTAM