แพทย์เผยพบสารเคมีอย่างน้อย 56 ชนิดในควันบุหรี่ไฟฟ้าไอคอสมีปริมาณสูงกว่าควันบุหรี่ธรรมดา แนะฝ่ายการเมืองตรวจสอบข้อมูลรอบด้าน หวั่นถูกแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบ

วันที่ 17 ตุลาคม รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เปิดเผยข้อมูลจากงานวิจัยจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ทำการศึกษาเอกสารของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าไอคอสที่ยื่นต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือเอฟดีเอ เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง หรือ modified risk tobacco product (MRTP) พบว่า บริษัทฟิลลิป มอร์ริส รายงานผลการทดสอบสารเคมีในควันบุหรี่ไฟฟ้าไอคอสเทียบกับบุหรี่ธรรมดาจำนวน 58 ชนิด (PMI-58) แล้วสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าไอคอสมีปริมาณสารอันตรายน้อยกว่า

“แต่หากพิจารณาข้อมูล จะพบว่า ใน 58 ชนิดที่นี้ พบว่ามีเพียง 40 ชนิดที่อยู่ในรายชื่อสารเคมีที่เป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายตามข้อกำหนดของเอฟดีเอจากทั้งหมด 93 ชนิด หรือกล่าวได้ว่า ยังมีสารเคมีอันตรายอีก 53 ชนิดที่อยู่ในรายชื่อสารเคมีที่เป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายตามข้อกำหนดของเอฟดีเอ ยังไม่มีการรายงานผลการเปรียบเทียบ” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่า ในควันบุหรี่ไฟฟ้าไอคอสมีสารเคมีอื่น ๆ อีกจำนวน 56 ชนิดที่พบในระดับที่สูงกว่าควันบุหรี่ธรรมดา โดย 22 ชนิดมีระดับสูงกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 200% และอีก 7 ชนิดมีระดับสูงกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 1000% และที่สำคัญคือสารเคมีกลุ่มนี้บางตัวไม่พบในบุหรี่ธรรมดา และยังไม่มีข้อมูลถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ในเอกสารของบริษัทฟิลิป มอร์ริส ที่ยื่นต่อเอฟดีเอยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าไอคอสจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับยาสูบเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ธรรมดา แท่งบุหรี่ไอคอสประกอบด้วยนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไอคอสสามารถทำลายสุขภาพ”

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการวิจัย ติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่เอฟดีเออนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าไอคอส เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารอันตรายน้อยกว่า หรือ reduced exposure อาจเป็นเหตุที่ทำให้กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมยาสูบ นำมาบิดเบือนและสื่อสารให้สังคมเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แท้ที่จริงเอฟดีเอปฏิเสธคำขอของบริษัทที่จะขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอันตรายน้อยกว่าประเภท ‘ลดความเสี่ยง’ หรือ reduced risk และทางเอฟดีเอยังได้ย้ำกับสาธารณะว่าเอฟดีเอไม่ได้ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นี้ปลอดภัยหรือได้รับการรับรองจากเอฟดีเอ และห้ามบริษัทฯ ไปโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า การที่อุตสาหกรรมยาสูบ และเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า นำเอฟดีเอมากล่าวอ้างแบบผิด ๆ เพื่อประโยชน์ในการแทรกแซงนโยบายให้ยกเลิกการห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า หรือให้ลดความเข้มข้นในการควบคุม ไม่ใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่พบในอีกกว่า 40 ประเทศ เช่น ฮ่องกง เกาหลี ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เม็กซิโก อียิปต์ และอีกหลายประเทศในแอฟริกา ทั้งนี้ฝ่ายการเมืองที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยควรรับฟังข้อมูลจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อ้างอิง

IQOS: examination of Philip Morris International's claim of reduced exposure: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30158205/

FDA's reduced exposure marketing order for IQOS: why it is not a reliable global model: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33811155/

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org