ศิริราชเผยผลวิจัยวัคซีนโควิด-19 ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ของผู้ที่ได้ Sinovac 2 เข็ม หรือ AstraZeneca 2 เข็ม พบซิโนแวค เป็นวัคซีนเริ่มต้นที่ดี โดยฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงมาก ส่วนผู้ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ควรฉีดเข็มกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ แม้เพียงครึ่งโดสได้ภูมิใกล้เคียงวัคซีนเต็มโดส

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยผลการวิจัยศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้เคยได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม

โดยที่มาของโครงการ สืบเนื่องจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มที่มีการใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทย อาจกระตุ้นระดับแอนติบอดีได้ไม่เพียงพอ การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีความจำเป็น แต่ยังไม่ทราบแน่ว่า วัคซีนตและชนิดที่อาจใช้กระตุ้นนั้น ให้ผลภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันอย่างไร การศึกษานี้จึงได้วัดระดับภูมิต้านทานต่อโปรตีนหนาม (anti-recrptor binding domain : anti-RBD IgG) โดยวิธี chemiluminescent microparticle immunoassay และภูมิต้านทานในการกำจัดไวรัสสายพันธุ์เดลตา (50% plaque reduction neutralization test : PRNT50) รวมทั้งอาการข้างเคียงในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 หลังจากได้รับวัคซีนครบสองเข็มมาแล้ว 2-3 เดือน

ผลการศึกษาเปรียบเทียบวัคซีนที่ใช้ฉีดกระตุ้น(เข็มที่ 3)  ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ครึ่งโดส ไฟเซอร์เต็มโดส

- หลังได้รับวัคซีนสองเข็มประมาณ 8-12 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันชนิด anti-RBD IgG ก่อนฉีดกระตุ้น มีค่าต่ำโดยเฉลี่ย 33-38 BAU/ml ในกลุ่มที่เคยฉีดซิโนแวค และ 90-116 BAU/ml ในกลุ่มที่เคยฉีดแอสตร้าเซนเนก้า

- ในผู้ที่ได้รับซิโนแวคแล้วสองเข็ม แล้วได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยไฟเซอร์ขนาดเต็มโดส มีระดับ anti-RBD IgG ขึ้นสูงสุดที่สุด (5,152 BAU/ml) รองลงมาเป็นวัคซีนไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดส (3,981 BAU/ml) ซึ่งสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯเข็มที่สาม (1,358 BAU/ml) และวัคซีนซิโนฟาร์ม กระตุ้นได้น้อยที่สุด (155 BAU/ml)

- ในผู้ที่ได้รับแอสตร้าฯ แล้วสองเข็ม แล้วได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยไฟเซอร์ขนาดเต็มโดสมีระดับ anti-RBD IgG ขึ้นสูงสุดที่สุด (2,377 BAU/ml) รองลงมาเป็นวัคซีนไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดส (1,962 BAU/ml) ซึ่งสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯเข็มที่สาม กระตุ้นสูงขึ้นน้อย (246 BAU/ml) และวัคซีนซิโนฟาร์ม กระตุ้นได้น้อยที่สุด (129 BAU/ml)

- ระดับภูมิยับยั้งเชื้อสายพันธุ์เดลตา วัดโดย PRNT50 ในผู้ที่ได้รรับซิโนแวคมาแล้วสองเข็มพบว่า กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดส ระดับไตเตอร์สูงที่สุด (499) รองลงมาเป็นวัคซีนไฟเซอร์เต็มโดส(411) วัคซีนแอสตร้าฯ (271) และวัคซีนซิโนฟาร์ม(61)

- ในผู้ที่ได้รับแอสตร้าฯแล้วสองเข็ม วัคซีนไฟเซอร์เต็มโดสได้สูงที่สุด (520) รองลงมาเป็นวัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดส (358) โดยวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นได้สูงกว่าแอสตร้าฯ (70) และซิโนฟาร์ม (49)

- อาการไม่พึงประสงค์ที่พบจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีเล็กน้อยถึงปานกลางในทุกวัคซีน

เฟซบุ๊ก Siriraj Institute of Clinical Research ยังเผยแพร่ผลการศึกษาดังนี้

สรุปได้ว่า Sinovac เป็น priming vaccine หรือวัคซีนเริ่มต้นที่ดี ซึ่งเมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca หรือ Pfizer ก็ให้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมาก สำหรับวัคซีน Pfizer ใช้เพียงครึ่งโดสก็ได้ภูมิคุ้มกันในระดับที่ใกล้เคียงกับการใช้วัคซีนเต็มโดส แนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca หรือ Pfizer เท่านั้น

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ฉีด AstraZeneca มา 2 เข็ม ควรฉีดเข็มที่ 3 กระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer เท่านั้น โดยอาจใช้เพียงครึ่งโดสก็ให้ผลภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับการใช้วัคซีนเต็มโดส

 

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์วิจัยคลินิก ศิริราชพยาบาล

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ศบค.อนุมัติวัคซีนสูตรไขว้เพิ่ม 2 สูตร “แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์” และ “ซิโนแวค+ไฟเซอร์”

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org