รอลุ้น! ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ 14 ต.ค.64 พิจารณาวัคซีนไขว้เพิ่มเติม! “เชื้อตาย+mRNA” และ “ไวรัลแว็กเตอร์ + mRNA” ส่วนวัคซีน mRNA ไม่มีไขว้กับชนิดใด
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 11 ต.ค. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด19 หรือ อีโอซี(EOC) ว่า ล่าสุดได้รับรายงานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสะสมแล้วกว่า 60.2 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามการวางแผน และคาดว่าในสิ้นปี 2564 จะสามารถฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสอย่างแน่นอน ทั้งนี้ แม้ช่วงแรกปริมาณวัคซีนอาจมาช้า แต่ตอนนี้มามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เป็นการฉีดวัคซีนแบบปูพรม ซึ่งฉีดทุกวัน หากฉีดวันละ 1 ล้านโดสก็จะต้องมีการนัดหมาย 3-4 วันล่วงหน้า จำเป็นต้องมีวัคซีนจำนวนมาก และต้องมีสูตรที่มีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันวัคซีนมีมากเพียงพอ
“ทุกวันนี้เราสามารถฉีดได้เฉียดล้านเกือบทุกวัน โดยตั้งใจว่าก่อนสิ้นเดือนต.ค.นี้จะฉีดได้ประมาณ 75 ล้านโดส เหลืออีก 2 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 12.5 ล้านโดสย่อมสามารถทำได้ถึง 100 ล้านโดสในปีนี้ แต่เราจะฉีดให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีน สำรวจวัคซีนเรามีประมาณ 127-148 ล้านโดส เพราะยังมีวัคซีนทางเลือกอีก และยังมีวัคซีนบริจาคมา หรือแลกซื้อก็เข้ามาเป็นระยะ เพราะเราทำทุกวิถีทางให้ไทยมีวัคซีนให้มากที่สุด โดยวัคซีนแต่ละชนิดก็มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ อาจารย์ศึกษาวิจัยสูตรวัคซีนไขว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วย” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า อนุกรรมการสร้างเสริมฯ ได้เสนอชุดความรู้พิจารณาเรื่องวัคซีนป้องกันโควิดสำหรับประเทศไทย โดยจะให้มีการฉีดวัคซีนไขว้มากขึ้น จากปัจจุบันวัคซีนสูตรไขว้ คือ วัคซีนชนิดเชื้อตาย กับวัคซีนไวรัลแว็กเตอร์ (Viral Vector) ก็จะมีการเพิ่มไขว้ระหว่าง วัคซีนชนิดเชื้อตาย กับวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งมีข้อมูลการศึกษาออกมา ส่วนไวรัลแว็กเตอร์ ก็ไขว้ด้วย mRNA แต่ mRNA ไม่มีไขว้กับชนิดใด รายละเอียดจะมีการนำเสนอที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 14 ต.ค.2564 ต่อไป
เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดจึงต้องไขว้อีก เนื่องจากปริมาณวัคซีนมีมากขึ้น ปลัดสธ. กล่าวว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับแอสตร้าฯ ระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 จะใช้เวลา 12 สัปดาห์ แต่เมื่อไขว้จะเหลือเพียง 3-4 สัปดาห์ ซึ่งการฉีดไขว้เป็นการใช้ระยะเวลาสั้นลง เป็นการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเข็ม 1 และเข็ม 2 เท่ากันภายใน 1 เดือน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3 views