กรมสุขภาพจิตประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยอายุต่ำว่า 20 ปีกว่า 1.8 แสนราย ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563-30 ก.ย. 2564 พบว่าวัยรุ่นมีความเครียดสูง 28% เสี่ยงซึมเศร้า 32% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 22% ชี้วัยรุ่นเครียดสูง เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น ยังพบบางรายทะเลาะกันในครอบครัวนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า เด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเชื่อว่านี่เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพจิตต้องดูแลติดตามระยะยาว แต่ผู้มีปัญหาส่วนหนึ่งปกปิดไว้ เพราะถูกตีตราว่าเป็นเรื่องน่าอาย เมื่อต้นสัปดาห์นี้ยูนิเซฟได้เผยแพร่รายงาน The State of the World’s Children 2021; On My Mind: promoting, protecting and caring for children’s mental health ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเด็กอย่างน้อย 1 ใน 7 คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่เด็กอีกมากกว่า 1,600 ล้านคนต้องเผชิญกับการเรียนรู้ที่หยุดชะงักลง และอาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อไปอีกหลายปี

รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุว่า ที่จริงแล้วก่อนโควิดเด็กและเยาวชน ต่างแบกภาระทางสุขภาพจิตที่แทบไม่เคยถูกกล่าวถึงอยู่แล้ว ซึ่งจากการประเมินพบว่า เด็กอายุ 10-19 ปี กว่า 1 ใน 7 คนทั่วโลกมีความป่วยทางจิตที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และวัยรุ่นเกือบ 46,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในวัยรุ่นในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าเด็กและเยาวชนอายุ 10-29 ปี ราว 800 คนฆ่าตัวตายสำเร็จใน พ.ศ. 2562 ในขณะที่ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า เด็กวัยรุ่นอายุ 10-19 ปีกว่า 10,000 คน ได้โทรเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษา ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ความเครียดและความวิตกกังวล ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้า

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของเด็กวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก เด็กจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนรูปแบบใหม่ จนเกิดผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการหลายด้าน ทั้งผลกระทบต่อผู้ปกครองและครอบครัวก็ทำให้การเลี้ยงดูทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ไม่สามารถใช้เวลาที่มีคุณภาพกับเด็กได้เพียงพอ ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากการเจ็บป่วย การเว้นระยะห่างทางสังคม การงดกิจกรรมนอกบ้าน และการสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ การขาดความรู้ ความตระหนักในสุขภาพจิต ปัญหาการตีตรา และขาดแคลนทรัพยากรด้านสุขภาพจิต ทำให้หลายคนพลาดโอกาสได้รับการดูแล ซึ่งในประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในหน่วยงานรัฐประมาณ 200 คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรวัยรุ่น 15 ล้านคน

พญ.อัมพร กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้ประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยอายุต่ำว่า 20 ปี จำนวน 183,974 คน ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563-30 ก.ย. 2564 พบว่าวัยรุ่นมีความเครียดสูง 28% เสี่ยงซึมเศร้า 32% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 22% เราพบว่าเด็กวัยรุ่นมีความเครียดสูงขึ้น เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในบางราย ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะติดตามเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน และองค์การยูนิเซฟ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและทันท่วงที เปลี่ยนทัศนคติเชิงลบผ่านการพูดคุย การลดการตีตรา และการสร้างเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตให้แก่เด็ก วัยรุ่น รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองและสังคมโดยรวม กล้าเปิดอกคุยกับเพื่อน ครอบครัว คนที่ไว้ใจ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org