รพ.มหาราชนครราชสีมา เดินหน้าให้บริการเครื่องฉายแสงเร่งอนุภาค "อนุทิน" ชี้ ช่วยเสริมศักยภาพรักษาผู้ป่วยมะเร็ง อำนวยความสะดวกประชาชน
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จ. นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิตร ปลัดกระทรวงฯ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และคณะผู้บริหารฝ่ายปกครอง ได้เดินทางมามอบนโยบายด้านการสาธารณสุข รวมถึงตรวจเยี่ยมการให้บริการเครื่องฉายแสงเร่งอนุภาค(Linac) ประจำศูนย์มะเร็ง ภายในโรงพยาบาล ซึ่งให้บริการแก่ผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 9
นายอนุทิน กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ว่า ยินดีที่ได้เห็นเครื่องฉายแสงรักษามะเร็งให้บริการในพื้นที่ การ ที่ได้เร่งจัดหามานั้น เพราะทราบว่า ผู้ป่วยมะเร็ง ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเท่าที่จะทำได้ เมื่อแต่ละพื้นที่ มีเครื่องมือที่พร้อม ก็ย่อมช่วยลดภาระเรื่องการเดินทางของประชาชน จึงได้ใช้งบประมาณเงินกู้ เพื่อแก้ปัญหาโควิด - 19 เข้ามาจัดหาเครื่องฉายรังสีทั้งหมด 7 เครื่อง ทยอยติดตั้ง และให้บริการทั่วประเทศ รวมทั้งที่ศูนย์มะเร็ง ของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาด้วย โดยการจัดหามา 7 เครื่อง เพื่อเพิ่มเติมการให้บริการที่มีอยู่เดิมนั้นสอดคล้องกับทรัพยากร และการใช้งาน ณ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ไม่เพียงดูแลเฉพาะเรื่องของโรคระบาดโควิด แต่ยังต้องดูแลเรื่องสุขภาพประชาชนในเรื่องอื่นด้วย วันนีั โครงการ 3 หมอ ดำเนินอยู่ โครงการมะเร็งรักษาทุกที่ก็กำลังเดินหน้ายินดีอย่างยิ่ง ที่การจัดหา และติดตั้งเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง สำเร็จไปได้ด้วยดี อยากให้ทั่วประเทศ มีเครื่องมือพร้อมสรรพสำหรับดูแลประชาชน โรงพยาบาลมหาราชฯ สมควรจะต้องยกระดับเป็นศูนย์กลางการรักษาในระดับภูมิภาค ผู้ป่วย จะต้องได้รับการรักษาที่นี่เป็นหลัก ไม่ต้องให้เดินทางไปถึงกรุงเทพ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลในขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องพัฒนาขึ้นมาเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานสถิติการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขตสุขภาพที่ 9 ระบุว่า ช่วง 5 ปีล่าสุด เขตสุขภาพที่ 9 (ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ) มีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้น ในปี 2563 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ จำนวน 9.8 พันราย โดย ประมาณครึ่งหนึ่ง เข้ารับการรักษาและส่งต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
สำหรับ เครื่องฉายแสงเร่งอนุภาค ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตัวเครื่องเป็นแบบอุโมงค์ติดตั้งภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว สามารถรับผู้ป่วยได้ถึงวันละกว่า 100 ราย ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสม แม่นยำ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ ส่วนผู้ป่วยสะดวกขึ้น ลดรอคอย ลดแออัด ลดการเดินทางไป กทม.
- 663 views