สิงคโปร์มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดย 81% ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขช่วงต้นเดือนกันยายน จากอัตรานี้น่าจะทำให้สิงคโปร์ผ่อนคลายมาตรการควบคุมทางสังคมได้มากแล้ว แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น
ตั้งแต่ก่อนที่อัตราการฉีดวัคซีนจะมีสัดส่วนมากที่สุดในโลก รัฐบาลสิงคโปร์เปลี่ยนมาตรการสลับกันไปมาครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งเข้มงวดและผ่อนคลายมาตรการหลายครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแต่ทำไม่สำเร็จสักครั้งเพราะการจู่โจมของสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้สูงในประเทศ
มีหลายครั้งที่สิงคโปร์ทำข้อตกลงกับบางประเทศที่ดูเหมือนจะควบคุมการระบาดได้สำเร็จเพื่อจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศที่มีการควบคุมโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Travel bubble แต่จนแล้วจนรอดสิงคโปร์ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะต้องยกเลิกไปกลางคันหากไม่ใช่เพราะสิงคโปร์เจอกับคลัสเตอร์ใหม่อีก ก็เป็นเพราะประเทศคู่สัญญาเจอกับการระบาดอีกครั้ง
ก่อนอื่นลงมาดูกันก่อนว่าสิงคโปร์ใช้วิธีอะไรในการควบคุมการระบาด
สิงคโปร์ใช้มาตรการที่เรียกว่า Circuit breaker measures หรือมาตรการตัดวงจรการระบาด (คล้ายกับตัวตัดไฟ หรือ circuit breaker เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว) เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 ก็คือคำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้านและใช้มาตรการกักกันโรคกับผู้ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะมีการประกาศเป็นระยะว่าประเทศไหนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ต้องกักตัว หรือทำ Stay-Home Notice/SHN เป็นเวลา 14วัน) หรือกลุ่มเสี่ยงน้อย (กักตัว 7 วัน) หรือบางประเทศไม่ต้องทำ SHN เลย บางประเทศเพราะมีสถานการณ์ที่น่าห่วงมาก สิงคโปร์จะสั่งทำ SHN เกินกำหนดเป็นกรณีพิเศษคือ 21 วัน
พร้อมกันนี้ สิงคโปร์ยังระดมฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อลงนามในข้อตกลงการซื้อขั้นสูง และชำระเงินดาวน์ก่อนกำหนดสำหรับวัคซีนที่มีแนวโน้มว่าพัฒนาขึ้นมาได้สำเร็จ เช่น Pfizer BioNTech, Moderna และ CoronaVac [1] และยังเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่อนุมัติวัคซีน mRNA มาใช้ในประเทศ คือ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 สิงคโปร์กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุมัติวัคซีน ของ Pfizer-BioNTech [2] ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 สิงคโปร์ได้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา [3]
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังอนุญาตให้เอกชนให้บริการประชาชนทั่วไปที่ต้องการฉีดวัคซีนเชื้อตาย เช่น วัคซีนจากบริษัท Sinovac และเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าจะยอมรับวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่อยู่ในรายการ Emergency Use Listing (EUL) โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 [4]
เมื่อใช้มาตรการ Circuit breaker measures เหล่านี้แล้ว สิงคโปร์ยังกำหนดมาตรการ Post-circuit breaker หรือการคลายมาตรการควบคุมทางสังคมหรือการเปิดประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ (ประกาศเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563) ได้แก่ "Safe Reopening" (ระยะที่ 1) "Safe Transition" (ระยะที่ 2) และสุดท้ายคือ "Safe Nation" (ระยะที่ 3) เมื่อตอนที่ประกาศมาตรการ 3 ระยะนั้น สิงคโปร์ตั้งเป้าว่าระยะที่ 3 จะคงอยู่จนกว่าจะพบการรักษาหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรค
แต่ถึงจะมีโรดแมปรองรับแล้วพร้อมกับการระดมฉีดวัคซีนจนมีอัตราสูงที่สุดในโลก สิงคโปร์ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นมาอยู่ที่ระยะที่ 1 อย่างถาวรเลย มิหนำซ้ำยังต้องถอยไปถอยมาระหว่างระยะที่ 2 กับระยะที่ 3 แม้แต่ในช่วงที่อัตราการฉีดวัคซีนมากจนเกือบครอบคลุมประชากรทั้งหมด สิงคโปร์ก็ยังถอยมาอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับระยะที่ 3 ด้วยซ้ำ
หากจะสรุปไทม์ไลน์สั้นๆ ของการ Post-circuit breaker ตั้งแต่ปี 2563 จนถึง 2564 จะได้ดังนี้
• ระยะที่ 1 มีระยะเวลา 17 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน และสิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2563 เตรียมจะเข้าสู่ Post-circuit breaker
• แต่แล้วต่อมากลับไปอยู่ที่ระยะที่ 2 มีระยะเวลา 6 เดือน 8 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ถึง 27 ธันวาคม 2563
• สิงคโปร์อยู่ในระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2563 จนถึง 7 พฤษภาคม 2564
• หลังการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบาดของเดลต้า สิงคโปร์เปลี่ยนกลับเป็นระยะที่ 2 ชั่วคราวในวันที่ 8 พฤษภาคม 2564
• แต่จาก 16 พฤษภาคม ถึง 13 มิถุนายน 2564 ยกระดับเป็น "Phase 2 Heightened Alert" (ระยะที่ 2 ที่มีสัญญาณเตือนสูง)
• สิงคโปร์ ยกระดับเป็นระยะที่ 3 ในระดับ "Phase 3 Heightened Alert" (ระยะที่ 3 ที่มีสัญญาณเตือนสูง) จาก 14 มิถุนายน ถึง 21 กรกฎาคม
• ต่อมาปรับเป็น "Phase 2 Intensive Alert" (ระยะที่ 2 ที่มีสัญญาณเตือนสูง) จาก 22 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม 2564
• ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นมา เป็นระยะ "Preparatory Stage of Transition" (ขั้นตอนการเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน) เป็นการเตรียมเพื่อที่จะคลายมาตรการควบคุม
การปรับขึ้นๆ ลงๆ เป็นผลมาจากการพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาทั้งๆ ที่การฉีดวัคซีนก็มีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันที่ 6 สิงหาคม รัฐบาลสิงคโปร์จึงตัดสินใจที่ลดระดับจากระยะที่ 2 มาเป็นขั้นตอนการเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่านโดยให้เหตุผลว่า "ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เราคาดว่าประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมดของเราจะได้รับวัคซีน 2 ครั้ง สิ่งนี้ทำให้เรามั่นใจว่าเราสามารถเริ่มเปิดเศรษฐกิจของเราอีกครั้งและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น" [5]
แต่รัฐบาลสิงคโปร์ยอมรับว่า "แม้การฉีดวัคซีนจะครอบคลุมสูง แต่เราอาจมีการที่ไวรัสเจาะการป้องกันของวัคซีนและเคสโควิด-19 รายวันจำนวนมากในชุมชน อย่างไรก็ตาม ด้วยประชากรส่วนใหญ่ของเราที่ได้รับการคุ้มครองโดยการฉีดวัคซีน เราน่าจะสามารถทำให้อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้ป่วยใน ICU ให้อยู่ในระดับต่ำได้" [5]
สิงคโปร์เตรียมพร้อมด้วยการให้ประชาชนเตรียมตัวกับการเปลี่ยนผ่านที่อาจไม่ราบรื่นนัก โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าทุกครัวเรือนจะได้รับชุดทดสอบแอนติเจนอย่างรวดเร็ว (ART) 6 ชุด ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม โดยเจ้าหน้าที่ก่อนวัยเรียนและนักเรียนแต่ละคนจะได้รับชุดเครื่องมือ 3 ชุดตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน [6]
พอถึงวันที่ 9 กันยายน รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศว่าประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน แรงงานต่างด้าวทุกคนที่ถูกกักตัวอยู่ในหอพักในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาจะค่อย ๆ ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมชุมชนได้ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้แผนการเดินทางที่ควบคุมอย่างเข้มงวด [7] เรื่องนี้นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในการเตรียมขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน เพราะแต่ไรมานับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่คลัสเตอร์ที่มีการติดเชื้อหนักที่สุดคือคลัสเตอร์แรงงานต่างด้าว และสิงคโปร์ทำการควบคุมโดยการกักตัวคนเหล่านี้ไว้นานข้ามปีจนเกิดเสียงตำหนิจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน
มาตรการที่สำคัญอีกเรื่องคือ เมื่อวันที่ 10 กันยายน ทางการสิงคโปร์ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน ระยะเวลากักกันสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 (ยกเว้นผู้ที่อยู่ในหอพักและผู้เดินทางเข้าสิงคโปร์) จะลดลงจาก 14 วันเป็น 10 วัน [8] แสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์พร้อมที่จะเปิดแล้วแม้ว่าจะมีความน่ากังวลเรื่องการติดเชื้ออย่างสูงเพราะเปิดรับความเสี่ยงจากแรงงานต่างด้าวและลดเวลากักตัว
แล้วสิ่งที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นจริง ในวันที่ 14 กันยายน สิงคโปร์รายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายวันสูงสุดในรอบกว่าหนึ่งปี โดยมีผู้ป่วย 837 ราย ผู้ป่วยทั้งหมด 809 คนอยู่ในโรงพยาบาล ในจำนวนนี้มี 75 คนป่วยหนักและต้องการออกซิเจน อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยที่ป่วยหนักโดยรวมค่อนข้างต่ำ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเพียง 4 รายในช่วง 28 วันที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนไม่ได้รับการฉีดวัคซีน [9]
สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความล้มเหลวของสิงคโปร์หรือไม่? คำตอบก็คือมันอาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์เอาไว้แล้ว นั่นเพราะเป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่การอยู่กับ Circuit breaker measures ไปตลอดกาลแล้วสลับไปสลับมาระหว่างระยะที่ 2 และระยะที่ 3 แต่มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มขั้นตอนการเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่านเพื่อมุ่งสู่สังคม Post-circuit breaker สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์มั่นใจว่าจะทำได้ คือการบอกกับประชาชนว่า "แม้จะครอบคลุมการฉีดวัคซีนสูง แต่เราอาจมีการที่ไวรัสเจาะการป้องกันของวัคซีนและเคสโควิด-19 รายวันจำนวนมากในชุมชน อย่างไรก็ตาม ด้วยประชากรส่วนใหญ่ของเราที่ได้รับการคุ้มครองโดยการฉีดวัคซีน เราน่าจะสามารถทำให้อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้ป่วยใน ICU ให้อยู่ในระดับต่ำได้"
นี่คือสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทาง "อยู่ร่วมกับโควิด" ของสิงคโปร์ที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แม้ว่าหลังจากนั้นสิงคโปร์จะเจอกับคลัสเตอร์ใหม่ๆ จนต้องสลับไปสลับมาระยะระยะที่ 2 และระยะที่ 3 แต่เป้าหมายของพวกเขายังเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะที่ 1 ให้ได้อยู่ดี
เมื่อเดือนพฤษภาคม ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่าสิงคโปร์เริ่มที่จะเตรียมแผนที่เมื่อรับมือกับการที่โควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่นี่ ซึ่งหมายความว่าชาวสิงคโปร์จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นครั้งคราว แต่เขากล่าว ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรักษาที่ดีขึ้นอาจทำให้โรคน่ากลัวน้อยลง [10]
ในเดือนมิถุนายน สิงคโปร์ก็เตรียมโรดแมป "อยู่ร่วมกับโควิด" อย่างจริงจัง โดย กัน คิม ยง (Gan Kim Yong) รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ลอว์เรนซ์ หว่อง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออง เย กุง (Ong Ye Kung) กล่าวว่าสิ่งสำคัญในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคือการเตรียมสิงคโปร์ให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับกับโควิด-19 ในฐานะที่เป็นโรคที่ปรากฏขึ้นซ้ำๆ และควบคุมได้ [11]
การติดเชื้อในอัตราสูงสุดในรอบปีหลังจากการเข้าสู่ Preparatory Stage of Transition จึงเป็นเรื่องที่เตรียมใจเอาไว้แล้ว ตราบใดที่การติดเชื้อไม่ทำให้ระบบสาธารณสุขล้นจนรับไม่ไหว นี่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่วางไว้ ดังนั้น แม้จะมีเคสเพิ่มขึ้นหลังประกาศใช้มาตรการเปลี่ยนผ่าน แต่ยังไม่มีการชะลอแผนการเปลี่ยนผ่าน โดยกระทรวงสาธารณสุขเพียงแค่สั่งห้ามการชุมนุมทางสังคมในสถานที่ทำงานเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มที่ตรวจพบในโรงอาหารของพนักงาน [9]
ดังนั้น ออง เย กุง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการบรรยายสรุปกับสื่อเมื่อวันที่ 10 กันยายนว่า “การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทวีคูณของการติดเชื้อรายวันที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ คือสิ่งที่ทุกประเทศที่พยายามจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 จะต้องพบเจอในบางช่วง”
อ้างอิง
1. "Securing Singapore's access to COVID-19 vaccines". www.gov.sg. Retrieved 28 April 2021.
2. "Singapore approves Pfizer's COVID-19 vaccine in Asia first". Reuters. 14 December 2020. .
3. "Singapore approves Moderna's COVID-19 vaccine in Asia first". Reuters. 3 February 2021.
4. "Those who opt for Sinovac, other vaccines under WHO emergency list to be considered fully vaccinated". CNA. 6 August 2021.
5. "Preparing for Our Transition Towards COVID Resilience" www.moh.gov.sg. Retrieved 16 September 2021.
6. "All households to receive six COVID-19 self-test kits via mail from Aug 28". CNA. Retrieved 28 August 2021
7. "Up to 500 migrant workers allowed to be released into the community". The Straits Times. 9 September 2021.
8. "Quarantine period for those exposed to COVID-19 to be cut from 14 to 10 days: MOH". CNA. 10 September 2021
9. "Singapore reports worst daily Covid case tally in more than a year". Guardian. 15 September 2021.
10. "Singapore planning for possibility that Covid-19 becomes endemic here: Lawrence Wong". The Straits Times. 28 May 2021.
11. "Singapore preparing road map for living with Covid-19". The Straits Times. 24 June 2021.
12. "Singapore pivots to living with Covid, refrains from tightening measures even as cases rise". CNBC. 10 September 2021.
ภาพ - Unwicked / wikipedia.org (CC BY-SA 4.0)
- 201 views