เกือบ 3 เดือนกับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และอีกกว่า 1 เดือนกับ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7” มีคำถามเกิดขึ้นมากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น สังคมและสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาต่ำกว่าเป้าหมายไปมาก ขณะที่ประชาชนทั่วไปยังต้องต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาด

ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ย. 2564 สรุปตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่เปิดโครงการอยู่ที่ 35,169 คน หรือเพียง 35 % ของเป้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางไว้ 1 แสนคนในช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) โดยมีการรายงานรายได้สะสม 2 เดือนแรกอยู่ที่ 1,634 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงการกระจายรายได้ก็ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม

ก่อนที่จะมีการเปิดพื้นที่เพิ่มเติมอีก 5 จังหวัดในเดือนต.ค. เราจะพาไปพูดคุยกับหัวหน้าทีมแซนด์บ็อกซ์ของภูเก็ต พังงา และกระบี่ ถึงบทเรียนและยุทธศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

ลดเงื่อนไขเพื่อเพิ่มชิ้นพาย

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่าหลังจากนี้โครงการแซนด์บ็อกซ์จะยากขึ้นเรื่อยๆ หากกฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆยังคงเหมือนเดิม เนื่องจากมีเสียงสะท้อนว่าเงื่อนไขของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ค่อนข้างเยอะ ถ้าลดบางอย่างลงได้น่าจะดีกับทุกคน เช่น การลดจำนวนครั้งในการตรวจเชื้อโควิด หรือลดจาก RT-PCR เป็นแบบ ATK ได้หรือไม่ เพื่อให้การเดินทางเข้ามาง่ายขึ้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจขยับไปได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในนักท่องเที่ยวไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์

“ถ้าพายชิ้นหนึ่งชื่อแซนด์บ็อกซ์ พายชิ้นนี้ยังเล็กมาก เราพยายามบอกให้เพิ่มขนาดของพายด้วยการทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้นโดยไม่ทิ้งเรื่องการควบคุมการระบาด เราเรียนรู้มาแล้ว 3 เดือนว่าควรปรับอะไรบางอย่าง เอาข้อสรุปมาปรับยุทธศาสตร์ ปรับเงื่อนไขให้มันรู้สึกเป็นไปได้มากกว่านี้ดีกว่า ไม่ได้บอกว่าให้เปิดเสรี เพียงแต่เอาบทเรียนเอาสถิติมาสกัดให้มันเห็นว่าแก่นมันคืออะไรแล้วจะทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้นได้อย่างไร”

นอกจากเงื่อนไขการเดินเข้าประเทศหรือ SOP แล้ว อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงทั้งในจังหวัดภูเก็ตเองและภายในประเทศได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น หลังประเทศไทยถูกถอดออกจากประเทศปลอดภัยและมาตรการต่างๆ ที่กระทบการเดินทางออกนอกพื้นที่ของนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การตรวจเชิงรุกและคักแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ก็ต้องยอมรับตัวแปรในข้อนี้และเดินหน้าแก้ควบคู่ขนานกันไปทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ โดยหวังว่าการได้รับวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ในฐานะที่จังหวัดนำร่องนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต ยังตั้งข้อสังเกตถึงการเปิดพื้นที่อีก 5 จังหวัดในเดือนต.ค.ด้วยว่าจะเป็นไปอย่างไรและใช้กระบวนการ 1 SOP 1 System อย่างที่ทอท.ประกาศไว้ได้หรือไม่ ในเมื่อถึงตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันชัดเจน เพื่อสรุปกติกา เงื่อนไขให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบก่อนการเดินทาง

“ตอนนี้เรามีกระบวนการ 7+7 กับพังงา กระบี่ สมุย แต่ในอีก 2 จังหวัดที่จะเปิดเพิ่มยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนให้กับนักท่องเที่ยวเลย ผมไม่ได้คัดค้าน แต่ถ้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์คือการเรียนรู้ อะไรในแง่การเปิดพื้นที่แต่ละพื้นที่ควรคุยกันเนิ่นๆ ไม่ควรมาสรุปอะไรใกล้ๆ แล้วถึงเวลาเตรียมตัวกันไม่ทัน” คุณโก้ กล่าว

วัคซีนคือหัวใจสำคัญ

“ผมว่าไม่แย่เสียเลย ตอนนี้ลูกค้าที่จองผ่านโครงการ 7+7 อยู่ที่ 6,000 กว่ารูมไนต์แล้วและยังทยอยมาเรื่อยๆ แต่นัยสำคัญที่เห็นโอกาสในอนาคตหลังได้ประกาศกับเอเยนต์ต่างชาติและออกสื่อไปทั่วโลกว่าเขาหลักเปิดแล้วคือยอดบุ๊คกิ้งของเดือนพ.ย.-ม.ค. วิ่งเข้ามาเยอะมาก ตอนนี้น่าจะอยู่ที่ 30,000-40,000 รูมไนต์ได้” พงศกร เกตุประภากร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา กล่าวถึงผลตอบรับหลังเปิดพื้นที่นำร่องเขาหลัก-เกายาวมากว่า 1 เดือน

เดิมทีพังงาตั้งเป้าในช่วงไฮซีซั่นไว้ที่ 25 % แต่หากทิศทางยังเป็นแบบนี้บวกกับวันที่ 15 ต.ค. สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบมุ่งตรงเข้าจังหวัดพังงาได้โดยไม่ต้องผ่านเงื่อนไขการอยู่ภูเก็ตก่อน 7 วัน ตามที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาผลักดัน คุณพงศกร เชื่อว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมียอดจองเกินเป้าที่ 30-35 % ของปี 2019

อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องทำหากจะเปิดพื้นที่รูปแบบดังกล่าวคือ การฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ก่อน พร้อมกับการบูรณาการแยกพื้นที่สีแดงให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้งนักท่องเที่ยวและชุมชน ซึ่งล่าสุดพังงาขอไป 2.4 แสนโดสภายในเดือนต.ค. หากวัคซีนมาตามนัดก็จะสามารถผลักดันการเปิดพื้นที่ทั้งจังหวัดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศควบคู่กันไป โดยวางเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวช่วงไตรมาสสุดท้ายไว้ที่ 4,000 ล้านบาท แต่ถ้าวัคซีนมาน้อยกว่ากำหนดก็ต้องขยับเลื่อนออกไปอีก

“การเปิดเมืองอาจกระทบเรื่องสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จากการเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงาน มีกิจกรรมมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้เกิน 70 % ก่อน พร้อมทำโครงการรับแรงงานกลับบ้าน เพื่อให้ลูกหลานชาวพังงาที่ต้องการจะกลับมาทำงานลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนให้เรียบร้อย เช่นเดียวกับประชากรแฝงอย่างแรงงานพม่าที่ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้ฉีดวัคซีนทำให้มีโอกาสระบาดสูง ก็มีการจัดสรรเพิ่มเติมในส่วนนี้หรือให้เจ้าของแพปลาหรือเรือประมงสามารถซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมาฉีดให้กับพนักงานได้ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และชุมชน” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพังงา กล่าวหลังได้บทเรียนจากภูเก็ต

ขยายจากพื้นที่นำร่องสู่จังหวัด

นอกจากลดเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศและการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดแล้ว คุณศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ มองว่า การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวได้ทั้งจังหวัดก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความจำเป็น ทั้งในเรื่องของการดึงดูดความสนใจของนักเดินทางและภาระค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่

“กระบี่ยังมีพื้นที่อื่นๆ อย่างเช่น อ่าวนาง เกาะลันตา คลองม่วง ทับแขกที่เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเราไม่สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้ทั้งจังหวัดและยังมีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนไขมากมายอยู่ ไม่เพียงจะทำให้นักท่องเที่ยวพิจารณาว่าจะมาดีหรือไม่เพราะหลายประเทศในโลกนี้ก็เริ่มเปิดกันแล้ว แต่เงื่อนไขแต่ละพื้นที่ก็ยังไม่เหมือนกันก็จะสร้างความสับสนให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆที่เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะการตรวจเชื้อ ซึ่งเป็นภาระพอสมควรสำหรับประชาชนในพื้นที่และพนักงาน”

ทั้งนี้กระบี่เปิดพื้นที่นำร่องในส่วนของเกาะพีพี ไร่เลย์ และเกาะไหง และพยายามผลักดันขอวัคซีนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดเกิน 70 % เพื่อโอกาสในการเปิดพื้นที่ทั้งจังหวัด เพราะนอกจากการท่องเที่ยวทางทะเล กลุ่มชุมชนจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถสร้างความสนใจให้กับผู้มาเยือน เช่นกลุ่มไมซ์ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่ใหญ่มากแต่ก็มาช่วยเติมได้ และเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางด้วย อีกทั้งกระบี่เป็นจังหวัดเล็กๆ การเดินทางระหว่างพื้นที่ท่องเที่ยว เศรษฐกิจและชุมชนมีการเชื่อมโยงกัน บางครั้งคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ในพื้นที่นำร่อง เมื่อมีการเดินทางข้ามเขตก็มีภาระด้านค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามเงื่อนไขด้านสาธารณสุข โดยต้องการอีก 5 แสนโดส

ที่สำคัญคือความมั่นใจในการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจะเป็นไปได้ยาก

“เมื่อเงื่อนไขการฉีดวัคซีนครบโดสเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับ ATK สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น คนจะมีความมั่นใจมากขึ้น เดินทางมากขึ้น เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนต่อไปได้” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวพร้อมเชื่อว่าหลังจากสนามบินนานาชาติกระบี่เปิดและมีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศโดยไม่ต้องรับจากภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. จะทิศทางที่ดีขึ้น

“เดิมทีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวมอยู่ที่ 1.2 แสนล้าน แต่เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเรานำมาได้ถึง 7.3 หมื่นล้าน ดังนั้นง่ายๆว่า 15-20 % ที่มียอดจองเข้ามาในช่วงพ.ย. เป็นต้นไปคิดเป็น 1.5-2 หมื่นล้าน เราทำให้ได้ แต่ถ้าไม่สามารถเปิดได้ทั้งจังหวัดมันจะมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเทียบกับจำนวนวัคซีนควรได้แล้ว รัฐจัดสรรวัคซีนมาให้ถือว่าคุ้มกว่าแน่นอน”

ท้ายที่สุดแล้ว ทั้ง 3 คนเชื่อว่าโควิด-19 คงไม่หมดไปในเร็วๆ นี้ แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน โดยการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปกับเรื่องสุขภาพ ไม่อาจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้