ความคืบหน้าการจัดสรรชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง ย้ำ! ทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจ ถ้าหากไม่มีอาการ สัมผัสเสี่ยงสูง หรืออยู่กลุ่มเสี่ยง พร้อมเผยวิธีการรับชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง ผ่านแอป “เป๋าตัง” ขอประชาชนอย่ากักตุนและเก็บไว้นาน ได้รับแล้วควรตรวจทันที

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 ก.ย. 2564 ในงานแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กระทรวงสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงประเด็น :ความคืบหน้าการจัดสรรชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง ย้ำ! ทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจ หากไม่มีอาการ สัมผัสเสี่ยงสูง หรืออยู่กลุ่มเสี่ยง พร้อมเผยวิธีการรับชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง ผ่านแอป “เป๋าตัง”

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสปสช.ในการกระจายชุดตรวจ ATK ลงไปทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ โดยได้เริ่มกระจายไปยังพื้นที่เสี่ยงสูงตั้งแต่ กทม. ปริมณฑล รวมถึงพื้นที่สีแดง และจังหวัดต่างๆด้วย โดยเป็นการร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน

และบางครั้งประชาชนที่ไปรับแล้วไม่สามารถรับชุดตรวจได้ ทั้งนี้เราต้องบอกว่าประชาชนทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจ ถ้าหากไม่อยู่พื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัสผู้ที่มีอาการเสี่ยง และผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น 608 เพราะอาจจะทำให้เปลืองทรัพยากรได้ กรณีที่ท่านได้รับแล้วขอให้รีบดำเนินการตรวจโดยทันทีห้ามนำไปกักตุนไว้ที่บ้านเพราะมันมีวันหมดอายุ ถ้าเก็บไว้ไม่ดีอาจทำให้เสื่อมสภาพได้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับ คือ 1. ท่านไปสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และมีอาการ คนที่ท่านไปสัมผัสมีผลบวก แนะนำให้ท่านควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจ RT- PCR เนื่องจากท่านมีความเสี่ยงสูงและมีการสัมผัสด้วย 2. ถ้าหากท่านมีอาการมีไข้ มีน้ำมูก ไอ หรือมีเสมหะ แต่ไม่มีประวัติไปสัมผัสผู้เสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยง ท่านอาจจะไปขอชุดตรวจ ATK ตามร้านขายยาหรือที่ร่วมโครงการรัฐบาล หรือประสานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น รพ.สต. ในการที่จะขอชุดตรวจโควิดได้

3. ผู้สัมผัสที่ไม่มีอาการอะไรเลย แต่ท่านเสี่ยงเพราะได้สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ ท่านก็สามารถไปขอรับชุดตรวจได้เช่นกัน 4. กลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบางที่อยู่ที่บ้าน ติดบ้านติดเตียง มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ในชุมชนของท่านมีการระบาดหรือมีผู้ป่วยในละแวกรอบๆท่านก็สามารถไปขอชุดตรวจได้ สามารถประสานกับอสม. หรืออนามัยที่ท่านรักษาได้

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า พร้อมย้ำกลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการ ควรตรวจซ้ำทุก 7 วัน แต่หากมีอาการควรตรวจด้วยชุด ATK ทันที และกลุ่มที่มีอาการแล้วก็ควรตรวจซ้ำเช่นกัน ภายใน 3-5 วัน หรือถ้ามีอาการระหว่างวันนั้น สามารถตรวจได้ทันทีไม่ต้องรอเวลา และถ้าหากมีผลบวก ท่านสามารถประสานไปที่สปสช. หรือสายด่วน 1330 และแจ้งไปที่โรงพยาบาลที่ท่านสามารถติดต่อได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดการไม่เหมือนกัน

“เราอยากฝากพี่น้องประชาชนว่าถ้าหากตรวจเป็นผลลบแล้วก็อย่าชะล่าใจให้ป้องกันตนเองสูงสุด ซึ่ง ATK เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้ท่านได้รู้ตัวท่านเองว่ามีความเสี่ยง และรู้ผลเร็วและสามารถเข้าระบบการรักษาได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือท่านต้องป้องกันตนเองอยู่เสมอ ต้องคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงอยู่เสมอเพื่อเราจะไม่ได้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น”นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ ชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ได้ถูกส่งออกไปทั่วประเทศแล้ว ดังนั้นหน่วยบริการที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทุกหน่วย จะมีชุดตรวจโควิดพร้อมให้บริการพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่ต่างจังหวัด เมื่อท่านอยากรู้ว่าจุดไหนมีให้บริการบ้าง สามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของ สปสช. ได้ ส่วนในกทม. เราจะมีการเพิ่มจุดกระจาย นอกจากศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนแล้ว ยังมีคลินิกชุมชนอบอุ่นอีกประมาณ 120 กว่าแห่ง ซึ่งจะเริ่มมีการกระจายชุดตรวจตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนนี้

วันนี้อาสาสมัครของกทม. หนึ่งหมื่นกว่าคน กำลังจัดสรรชุดตรวจ ATK ไปยังพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงในต่างจังหวัดก็เช่นกัน พี่น้องอาสาสมัครจะเป็นหน่วยบริการเชิงรุกเข้าหาประชาชนกลุ่มเสี่ยง สำหรับวิธีการรับชุดตรวจ ATK วิธีแรกคือ 1. ถ้าหากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้ท่านสังเกตป้าย “จุดแจกชุดตรวจโควิด ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง” ที่หน่วยบริการนั้น ถ้ามีป้ายดังกล่าว ท่านสามารถเดินเข้าไปขอรับได้เลย 2. ถ้าหากท่านมีแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง”อยู่แล้ว สามารถเข้าไปขอรับชุดตรวจโควิดฟรีผ่านแอพได้เลย โดยจะมีการถามคำถามท่านอยู่ 3 ข้อ ว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ 3. หากท่านเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัดหรืออยู่ในตลาด ร้านเสริมสวย ร้านนวดสปา เป็นต้น จะมีอสส. ประสานกับท่านและนำไปแจกให้ท่านโดยตรง

เราขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า หากท่านทำการตรวจแล้วไม่ว่าผลจะเป็นบวกหรือลบ กรุณาส่งผลเข้าสู่ระบบหรือผ่านแอพเป๋าตังด้วย เพราะถ้ามีผลเป็นบวกจะมีเจ้าหน้าที่ทางโรงพยาบาลประสานติดต่อท่าน เพื่อทำการเข้ารักษาหรือที่เรียกว่า Home isolation (HI)หรือ Community isolation(CI) คือการรักษาที่บ้านหรือชุมชน หากผลเป็นลบ เราจะบันทึกข้อมูลท่านไว้ก่อน เพื่อรอสังเกตอาการ 3-5 วัน เพื่อทำการตรวจอีกครั้งให้เกิดความมั่นใจ

ดังนั้นขออนุญาตประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนทุกคน เมื่อท่านได้ทำการตรวจโควิด ATK แล้ว ถ้าหากเป็นผลบวกหรือผลลบก็ตาม รบกวนท่านติดต่อหรือโทรศัพท์ไปยังหน่วยที่ท่านรับชุดตรวจ เพื่อแจ้งข้อมูลให้ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการทำการบันทึกข้อมูลของท่านไว้ด้วย

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ มีผู้ขอรับชุดตรวจ ATK ไปแล้วกว่า 80,000 คน และมีผู้บันทึกข้อมูลมาแล้ว 14,000 กว่าคน คิดเป็นประมาณ 20% และมีผลบวก 100 คน คิดเป็นประมาณ 1% อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำ หากท่านคิดว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยง ท่านกรุณาติดต่อไปยังหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อรับชุดตรวจและใช้ตรวจทันที

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org