ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เริ่มฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ในเด็กอายุ 10-18 ปีผ่านโครงการศึกษาวิจัย “VACC 2 School” เผยต่างประเทศมีการศึกษาพบปลอดภัย ภูมิคุ้มกันเทียบเท่าผู้ใหญ่ แต่ป้องกันเดลตามากน้อยแค่ไหนยังไม่ทราบ ด้าน “หมอนิธิ” ชี้โครงการนี้ทำได้แค่ กทม. เหตุเป็นการศึกษาวิจัยผ่านราชวิทยาลัยฯ แต่ตจว.ไม่ได้ ต้องรอ อย.พิจารณาทะเบียนเพิ่มเติม!

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 20 ก.ย.2564 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการ “VACC 2 School” นำร่องฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10 – 18 ปี ที่อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นจุดบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยในโครงการวันนี้เริ่มให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มผ่านโครงการศึกษาวิจัย จำนวน 2,000 คน จากโรงเรียนสตรีวิทยา ศูนย์การเรียนรู้รุ่งอรุณ และโรงเรียนสันติสุข ซึ่งทั้งหมดผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการวิจัยในการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับเด็กอายุระหว่าง 10-18 ปีนี้ มีการศึกษาในต่างประเทศแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำโครงการวิจัย ซึ่งผ่านคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เองแล้ว และวันนี้จะเริ่มฉีดให้กับนักเรียนและโรงเรียนที่มีการลงทะเบียนเข้ามา เบื้องต้นดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พิจารณาทะเบียนเพิ่มเติมในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ทำให้ยังไม่สามารถฉีดในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ ยกเว้นต้องเป็นการศึกษาวิจัยผ่านโรงเรียนแพทย์ในพื้นที่นั้นๆ

“เราหวังว่า อย.จะให้การรับรองโดยเร็ว จะได้ฉีดให้แก่เด็กนักเรียนในต่างจังหวัด จะได้ลดช่องว่างในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกใช้กันมากแล้วหลายล้านแล้ว จึงหวังว่า ทาง อย. จะเข้าใจ เพราะมีข้อมูลอยู่ ส่วนของเราก็ทำการวิจัยต่อไป โดยจะมีการติดตามอาการข้างเคียง มีระบบSMS สอบถามเข้าไป และจะติดตามการติดเชื้อในครอบครัวและในโรงเรียนก็จะมีการติดตาม และสอบถามไปทุกเดือน ซึ่งในเรื่องอาการข้างเคียงจะมีการติดตาม 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการขอให้อย.รับรองทะเบียนเพิ่มเติมในกลุ่มเด็กอายุเท่าไหร่ และขั้นตอนถึงไหนแล้ว ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ขอ อย. เพื่อรับรองการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็กอายุ 3-17 ปี ซึ่งเหมือนในประเทศอื่นๆ ส่วนอย.กำลังพิจารณาอยู่ ไม่รู้ว่า ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ข้อมูลบางส่วนของเราในเรื่องอาการข้างเคียงเราจะส่งไปเพิ่มเติม แต่จริงๆก่อนหน้านี้เราเคยทำไปชุดแรกประมาณเกือบ 200 คน ซึ่งน่าจะได้ผลออกมาก่อน จะมีการส่งเพิ่มเติมเข้าไป อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องน่าจะพิจารณาโดยเร็ว

เมื่อถามว่าผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็กเป็นอย่างไร ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ทราบกันอยู่แล้วว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย มีการใช้กันมานานในวัคซีนชนิดอื่นๆในเด็ก ทั้งไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบ พิษสุนัขบ้า เป็นต้น ซึ่งความปลอดภัยสูงมาก อาการข้างเคียงก็ต่ำ เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ความรุนแรงต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์มที่จะนำมาใช้ในเด็กมีการศึกษาในต่างประเทศ พบว่ามีความปลอดภัย ไม่พบอาการข้างเคียงในเด็กมากนัก เบื้องต้นมี ชิลี ศรีลังกา จีน และยูเออี พบอาการข้างเคียง 0.2 % ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับ 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ส่วนการพิจารณากระตุ้นเข็ม 3 ในเด็กขึ้นอยู่กับการระบาดจากนี้ในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า ส่วนการนับวัคซีนในโครงการของราชวิทยาลัย คาดว่าจะมีเด็กรับวัคซีนรวม 108,000 คน โดยส่วนใหญ่ของการรับวัคซีนนี้ทีทั้งเด็กมัธยมต้น และมัธยมปลาย ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เด็กนักเรียนได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติในโรงเรียน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหากโรงเรียนแพทย์อื่นต้องการทำการศึกษาวิจัยซิโนฟาร์มในเด็กทำได้หรือไม่ ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ทำได้ แต่ต้องมีการขอคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์เหมือนของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และประสานเรื่องวัคซีนเข้ามา

เมื่อถามว่าอย.มีการขอข้อมูลอะไรเพิ่มเติม และเราได้ยื่นขึ้นทะเบียนไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ ยื่นขอทะเบียนเพิ่มเติมไปกับ อย.ประมาณ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนการพิจารณาของอย. เป็นอย่างไร ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ตนไม่ทราบ ต้องสอบถามทาง อย. แต่ข้อมูลในต่างประเทศก็ยืนยันว่า ปลอดภัย และภูมิคุ้มกันขึ้นเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ฉีดได้ ส่วนจะป้องกันเชื้อเดลตาได้มากน้อยแค่ไหน ตนยังไม่แน่ใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ก่อนหน้านั้นได้ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. สำหรับการฉีดในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org