แพทย์อาสาดีใจได้ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิดตกค้างรอเตียงร่วมกับ สปสช. เผยทนเห็นภาพคนป่วยนอนเสียชีวิตอยู่ที่บ้านไม่ได้ ลุยดูแลผู้ป่วยสีเหลือง-แดง ตั้งแต่เดือน ก.ค.จนถึงช่วงที่จำนวนผู้ป่วยเริ่มน้อยลง

พญ.พัชรินทร์ ตรีจักรสังข์ กุมารแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช กล่าวในฐานะแพทย์อาสาที่เข้าทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ตกค้างรอเข้าระบบการดูแลในโรงพยาบาลว่ารู้สึกดีใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังเคว้งคว้างรอการตอบรับจากหน่วยบริการ โดยจุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานแพทย์อาสาในครั้งนี้ต้องย้อนไปช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ช่วงนั้นยอดของผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นจนน่าใจหาย ยิ่งเจอสายพันธุ์เดลต้าซึ่งทำให้คนไข้มีอาการมากยิ่งขึ้น ก็คิดว่าเกินศักยภาพของโรงพยาบาลที่จะรับมือได้

“จริงๆตั้งแต่ได้ยินข่าวว่าในอินเดียมีคนไข้เสียชีวิตตามบ้านโดยไม่ได้เข้ารับการรักษาก็รู้สึกกังวลใจว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย สุดท้ายมันก็เกิดขึ้นจริง ตอนนั้นมีข่าวผู้ติดเชื้อนอนเสียชีวิตที่บ้าน ในฐานะของหมอรู้สึกแย่มาก คนอายุยังไม่มาก ยังมีอนาคตอีกไกลต้องมาเสียชีวิตเพราะไม่ได้เข้ารับการรักษา” พญ.พัชรินทร์ กล่าว

ด้วยเหตุนี้ พญ.พัชรินทร์ จึงค้นหาในกูเกิลเพื่อดูว่ามีที่ไหนต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์อาสาบ้าง และได้ลงทะเบียนติดต่อ สปสช. แนะนำตัวว่าเป็นกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้าน ICU เด็กและคิดว่าสามารถช่วยดูแลคนไข้ได้ หลังจากนั้นจึงได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นแพทย์ที่ปรึกษาให้กับทีมจิตอาสาของ สปสช.

พญ.พัชรินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังตกค้างไม่ได้รับการจับคู่กับหน่วยสถานบริการ บางคนก็อาการทรุดหนักลง ทีมจิตอาสาของ สปสช.จะทำหน้าที่ติดต่อประเมินอาการผู้ติดเชื้อระหว่างรอการตอบรับจากหน่วยบริการ ซึ่งในรายของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางจนถึงหนัก เจ้าหน้าที่จิตอาสาจะส่งต่อข้อมูลมาให้ทีมแพทย์ที่ปรึกษา เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว แพทย์ก็จะโทรกลับไปหาผู้ป่วยเพื่อสอบถามประเมินอาการ หากจำเป็นต้องให้ยาหรือส่งเข้าโรงพยาบาลก็จะส่งต่อข้อมูลให้ทีม สปสช.ประสานหาเตียงให้

“เรามีทีมแพทย์ประมาณ 6 คนและแพทย์ที่เวียนเข้ามาช่วยอีกประมาณ 10 คน กระบวนการทำงานเราคือ คนไข้แต่ละคนจะประเมินว่าอาการตัวเองกำลังอยู่ในโซนสีเขียวเหลืองหรือแดง เช่น มีไข้ มีโรคร่วม กลุ่มคนท้อง กลุ่มเด็ก ถ้าคนไข้ประเมินอาการมาแล้วอยู่ในโซนเหลือง-แดง เจ้าหน้าที่ก็จะดึงข้อมูลเข้ามาในกลุ่มไลน์ที่มีหมออยู่ด้วย พร้อมเบอร์โทรให้หมอที่สะดวกในเวลานั้นติดต่อกลับไปประเมินคนไข้ แล้วก็ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ สปสช.ว่าอาการอยู่ในโซนที่เป็นสีแดงจริง ให้เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น คนนี้ต้องให้ยา คนนี้ต้องประสานส่งออกซิเจนให้ก่อน คนนี้ต้องจองเตียงและประสานหน่วยกู้ภัยไปรับตัว ฯลฯ” พญ.พัชรินทร์ กล่าว

พญ.พัชรินทร์ กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่เข้าร่วมทำงานแพทย์อาสา ทีมแพทย์ได้ช่วยดูแลผู้ป่วยสีเหลือง-แดงไปประมาณ 1,000 กว่าคน เฉพาะส่วนที่ตนดูแลน่าจะประมาณ 100 คนกว่า มีหลายเคสที่โทรติดตาม ส่งยา ส่งอุปกรณ์ให้จนหายดีไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ทำงานนี้ตั้งแต่เดือน ก.ค. จนถึงปัจจุบัน แต่ในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนคนไข้เริ่มน้อยลง บวกกับมีสถานพยาบาลจับคู่กับ สปสช.มากขึ้น โอกาสที่คนไข้จะตกค้างในระบบแล้วไม่มีสถานพยาบาลรับดูแลก็น้อยลงตามไปด้วย

พญ.พัชรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาทำงานแพทย์อาสากับ สปสช. เพราะสมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์ก็ครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อคนไข้ ทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือคนให้หายเจ็บป่วยกลับมามีชีวิตปกติก็รู้สึกมีความสุข หรือหากคนไข้ต้องจากไป อย่างน้อยก็ทำให้เป็นการจากไปอย่างสมเกียรติที่สุดของการได้เกิดมนุษย์ อย่างน้อยได้มีหมอรักษา ไม่ได้จากไปอย่างโดดเดี่ยวโดยที่ไม่ได้รับการดูแล

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org