‘ธรรมศาสตร์’ รุกการแพทย์สมัยใหม่ พัฒนา ‘แอนติบอดีต่อหมู่เลือดจำเพาะ’ สำเร็จ ช่วย ‘ผู้ป่วย-ชาวเอเชีย’ ถ่ายเลือดแบบแม่นยำ

คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้วิจัย “นวัตกรรมการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีต่อหมู่เลือด Dia ด้วยเทคโนโลยี Phage Display Technology” นำทีมวิจัยโดย ศ.พิเศษ พลตรีหญิง ดร.อ้อยทิพย์ ณ ถลาง ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา และ ผศ.ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร และหัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ มธ.

สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการผลิต “แอนติบอดีต่อหมู่เลือดจำเพาะ” ที่จะสามารถใช้ตรวจหมู่เลือดที่มีความสำคัญในประเทศไทยรวมทั้งชาวเอเชีย คือหมู่เลือด Dia (Diego a) ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อใช้ในการเตรียมเลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือดให้ผู้ป่วยที่ต้องรับการเปลี่ยนถ่ายเลือดเป็นประจำ ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.จีระพงษ์ อธิบายว่า เทคโนโลยีที่ทำขึ้นเป็นการจำลองคลังแอนติบอดี (Antibody) ของหนูเม้าส์ให้มาอยู่ในหลอดทดลอง ด้วยเทคโนโลยี Phage Display Technology โดยฝากยีนส์แอนติบอดีไว้ในอนุภาคไวรัสของแบคทีเรียเรียกว่าฟาจ (phage) ซึ่งจะแต่ละอนุภาคฟาจทำหน้าที่เสมือนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะชูโมเลกุลของแอนติบอดีบนพื้นผิวอนุภาคมีความหลากหลายของแอนติบอดีที่สูง เรียกว่า “คลังแอนติบอดีฟาจ” (antibody-phage library)

“ถ้าต้องการแอนติบอดีที่จำเพาะต่อหมู่เลือด Dia ก็เพียงแค่นำโมเลกุลเม็ดเลือดแดงที่มีหมู่เลือดนี้ มาจับเข้ากับ Phage ที่ชูโมเลกุลของแอนติบอดีบนผิวอนุภาคที่จำเพาะต่อหมู่เลือด Dia หลังจากนั้นจะมีการคัดเลือกแอนติบอดีที่จำเพาะออกมาเพื่อนำไปเพิ่มปริมาณแอนติบอดีที่ติดอยู่กับอนุภาค phage ในเซลล์แบคทีเรียให้เพียงพอสำหรับนำไปทำการทดสอบความจำเพาะต่อหมู่เลือด Dia โดยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ” ผศ.ดร.จีระพงษ์ ระบุ

มากไปกว่านั้นวิธีที่ทางสหเวชฯ มธ. ใช้ยังมีขั้นตอนในการกำจัดแอนติบอดีที่จำเพาะต่อหมู่เลือดอื่นที่สำคัญและพบได้บ่อยในประชากรไทยออกไปอีกด้วย เพื่อเพิ่มความจำเพาะในการผลิตแอนติบอดีต่อหมู่เลือด Dia มากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.จีระพงษ์ ขยายความเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันน้ำยาที่ใช้ตรวจหมู่เลือด Dia ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งนำมาจากการแยกน้ำเหลืองจากเลือดของคนที่สร้างแอนติบอดีต่อหมู่เลือด Dia

“ในแต่ละล็อตของน้ำยาที่นำเข้ามา อาจได้มาจากผู้บริจาครายเดิมแต่ต่างเวลาเก็บหรืออาจได้มาจากผู้บริจาคต่างบุคคล ส่งผลให้มีความแปรผันของคุณภาพแอนติบอดีที่ได้ในแต่ละล็อต (lot-to-lot variation) เพราะแอนติบอดีที่ผลิตขึ้นในร่างกายมนุษย์ มักจะมีความแปรผันตามการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม แต่การผลิตแอนติบอดีต่อหมู่เลือด Dia ที่ทางสหเวชฯ มธ. ใช้นั้นเป็นเทคนิคที่ผลิตแอนติบอดีในหลอดทดลองด้วย Phage Display Technology ดังนั้นคุณภาพแอนติบอดีในแต่ละล็อตจึงมีความเสถียรกว่า” ผศ.ดร.จีระพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ทางสหเวชฯ มธ. ได้มีการเซ็นสัญญา และถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศเยอรมนี เพื่อพัฒนาปรับปรุงแอนติบอดีต่อหมู่เลือด Dia ที่ทางสหเวชฯ มธ. ผลิตได้ ให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้ตรวจวินิจฉัยในงานตรวจประจำวันหรือในเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ เพื่อต่อยอดสู่การค้าต่อไปในอนาคต

“เมื่อทาง มธ. ถ่ายทอดต้นแบบให้ เขาจะต้องนำไปต่อยอด พัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือแพทย์ได้ โดยสัญญาที่เราลงนามไว้นั้นไปถึงจุดที่จะทำเป็นเชิงพาณิชย์ ถ้าประสบความสำเร็จในขั้นตอนการพัฒนา และอยู่ในสูตรที่ใช้ได้แล้วผลดี ก็จะสามารถขายได้ ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงน้ำยาและการตรวจที่แม่นยำมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับเลือดที่ตรงหมู่ ทำให้ลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับเลือดไม่ตรงหมู่” ผศ.ดร.จีระพงษ์ ระบุ

ผศ.ดร.จีระพงษ์ อธิบายเพิ่มว่า การผลิตแอนติบอดีดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด และต้องการรับเลือดเพื่อพยุงอาการ-ชีวิตขณะเสียเลือดระหว่างผ่าตัด แต่สำหรับกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ที่สุดนั่นคือ กลุ่มที่ต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดบ่อยๆ เช่น ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับหมู่เลือดแปลกปลอม จากการถ่ายเลือดแต่ละครั้ง ถ้าได้รับเลือดไม่ตรงหมู่ก็อาจจะกระตุ้นภูมิให้ต่อต้านได้ แต่หากมีน้ำยาตรวจหมู่เลือดที่แม่นยำและเข้าถึงง่ายก็จะช่วยลดภาวะเสี่ยงให้ผู้ป่วยได้

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org