“พืชกระท่อม” ได้รับการปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกไว้เพื่อครอบครอง ซื้อขาย และบริโภคได้โดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

ในวันนี้ กระท่อมมีการวางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด ประชาชนสามารถเข้าถึงกระท่อมได้จาก marketplace ทางออนไลน์ สร้างรายได้ให้กับผู้จำหน่ายเป็นกอบเป็นกำ อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระท่อมจะถูกปลดเปลื้องสถานะจากการเป็นยาเสพติดแล้ว หากแต่กระท่อมก็ยังเปรียบได้กับดาบสองคม คือมีทั้งคุณและโทษ

รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เจ้าของรางวัล “เสม อวอร์ด 2562” ประเภทการวิจัยและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในชุมชน มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ได้อธิบายถึงการบริโภคกระท่อมอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น

รศ.ดร.อรุณพร กล่าวว่า ความจริงแล้วกระท่อมเป็นยา ไม่ใช่อาหาร แต่หากบริโภคเกินขนาดก็จะมีผลข้างเคียงและทำให้ติดได้ เนื่องจากในกระท่อมมีสาร “Mitragynine” เป็นสารจำพวกแอลคาลอยด์ที่มีคุณสมบัติความเป็นด่างมาก มีโทษต่อร่างกายที่ทำให้เกิดอาการหลอน เคลิ้มฝัน มึนงง เหงื่อออก ทนต่อความหนาวไม่ได้ และนอนไม่หลับ หรือถ้าหลับก็จะฝันแบบที่ไม่ควรฝัน

“อย่าง 4x100 ที่ผสมกระท่อมกับน้ำอัดลม ถ้าใช้ในลักษณะนี้คิดว่าจะทำให้มีโอกาสติดได้ง่าย เนื่องจากน้ำอัดลมมีความหวาน มันจะทำให้เกิดการดูดซึมกระท่อมได้อย่างรวดเร็ว” รศ.ดร.อรุณพร ระบุ

สำหรับวิธีการรับประทานกระท่อมที่ถูกต้องไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ รูดก้านใบออกเพื่อเอาแต่ใบล้วนๆ แล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก เพราะน้ำลายมีความเป็นด่าง ไปสกัดเอาอัลคาลอยด์ Mitragynine ออกมา เรารับประทาน ไม่ควรกลืนกาก เพราะอาจจะทำให้เกิด “ถุงท่อม” ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องซึ่งจะทำให้ปวดท้องได้

ทั้งนี้ เพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก และเมื่อรับประทานบ่อยๆ และขับไม่หมด เพราะกระท่อมทำให้ท้องผูก พวกเส้นใยเหล่านี้จะก่อตัวเป็นก้อน เช่นเดียวกับวัว ควาย ที่เคี้ยวหญ้ามักจะเกิดเป็นก้อนเรียก โคโรค สำหรับการต้มเพื่อทำน้ำกระท่อมก็ไม่ควรใช้เกิน 5 ใบต่อวัน เช่นกัน และเมื่อต้มแล้วก็ควรกรอง เอากากออก แต่การต้มควรบีบมะนาวลงไปก่อนกรองกาก เพราะแอลคาลอยด์ในกระท่อมจะกลายอยู่ในรูปของเกลือละลายน้ำได้ แล้วดื่มน้ำกระท่อมนั้น
 
“สมุนไพรหลายอย่างพอถึงวลาแล้วใช้ไม่ถูก สมุนไพรนั้นก็ก่อให้เกิดอันตรายเหมือนกับกัญชา ดังนั้นควรใช้ให้เป็น และไม่ควรใช้เป็นอาหารพร่ำเพรื่อ เพราะจะเกิดพิษตามมา เมื่อดูการขาย ในตลาดน่าเป็นห่วงมาก ถ้าเกิดอะไรขึ้น เมื่อปลดล็อกแบบนี้เกรงว่าต่อไปจะถูกห้ามใช้อีก” นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ

ในส่วนของขนาดที่ใช้กระท่อมเอง ถ้าใช้มากเกิน 10-25 กรัม จะทำให้มีเหงื่อออก มึนงง เคลิ้มฝัน หลอน ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ การใช้กระท่อมควรจะมีขนาดที่พอดี และควรจะใช้เป็นยามากกว่า ส่วนตัวกังวลเหมือนกันว่าหลังจากที่ถูกกฎหมายแล้วคนจะเอามาใช้ผิดวิธี

รศ.ดร.อรุณพร อธิบายว่า ตามภูมิปัญญาไทย ชาวบ้านจะเคี้ยวใบกระท่อมร่วมกับ “ใบชุมเห็ดเทศ” เพราะกระท่อมจะทำให้เกิดอาการท้องผูก ฉะนั้นจึงต้องใช้ใบชุมเห็ดเทศที่มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายสำหรับแก้พิษจากกระท่อมที่ทำให้ท้องผูก ส่วนการต้มนั้นสามารถทำเป็นชาได้โดยบีบมะนาวลงไป ซึ่งความเป็นกรดของมะนาวจะทำให้แอลคาลอยด์กลายเป็นเกลือและสามารถละลายน้ำได้ และออกฤทธิ์คล้ายกัน คือเมื่อทานเข้าไปจะทำให้รู้สึกมีพลัง ทำงานได้ทน ไม่เหนื่อย และทนแดดได้ แต่จะทนฝนไม่ได้ จะเป็นคนขี้หนาว

ขณะเดียวกันไม่ใช่ทุกคนที่จะทานกระท่อมได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ เพราะฤทธิ์ของกระท่อมจะทำให้ไม่เหนื่อย ซึ่งคนเป็นโรคหัวใจอาจจะไม่รู้ตัวว่าเหนื่อย และอาจจะทำให้ช็อกได้ เช่นเดียวกันกับคนเป็นโรคทางจิตประสาทที่ต้องใช้ยา เนื่องจากกระท่อมส่งผลถึงสมอง ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนที่จะรับประทานได้

รศ.ดร.อรุณพร อธิบายเพิ่มเติมว่า ในทางการแพทย์กระท่อมมีประโยชน์และข้อดีอยู่มาก กระท่อมสามารถใช้แทน “มอร์ฟีน” ลดอาการปวดได้ และมีการจดสิทธิบัตรแล้วในประเทศญี่ปุ่น และอาการติดกระท่อมน้อยกว่าการติดมอร์ฟีน  ดังนั้นเขาจึงใช้รักษาอาการลงแดง เพื่อทดแทนในผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดประเภทเฮโรอีน มอร์ฟีน

ดังนั้นกระท่อมควรนำมาใช้ทางการแพทย์ ในการลดการอาการปวดที่รุนแรง นอกจากนี้กระท่อมยังสามารถลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เสร็จสิ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่ากระท่อมยังสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้

“ตรงนี้เป็นภูมิปัญญา ถ้าเราคิดว่าเอามันมามันช่วยตรงนี้ได้เราไม่ต้องกินยาเบาหวานเลย เพราะกระท่อมดีอยู่แล้ว มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าคนเคี้ยวกระท่อมวันละ 1 ใบ จำนวน 41 วัน มันสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้” รศ.ดร.อรุณพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้แล้ว กระท่อมยังสามารถรักษาอาการท้องร่วง โรคบิด ในยาไทยจึงมียาที่ชื่อว่า “หนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร” ที่ใช้สำหรับการรักษาโรคท้องร่วงอย่างรุนแรง ตำรับยาแก้บิดลงเป็นเลือด ตำรับยาแก้บิดหัวลูก และ ตำรับยาประสระกาฬแดง เป็นต้น

“สำหรับอาการมึนหัวของกระท่อมจะหายเมื่อดื่มน้ำเยอะๆ เพราะกระท่อมจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ไม่ต้องกังวล ถ้าเรากินเป็น เราก็จะไม่ติด” รศ.ดร.อรุณพร ระบุ       

รศ.ดร.อรุณพร อธิบายเพิ่มว่า สำหรับโอกาสทางเศรษฐกิจของกระท่อม น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีแน่นอน ถ้าคิดว่าต้องนำมาใช้เป็นยารักษาเบาหวาน หรือยาแก้ปวด ในอนาคตข้างหน้าหากมีการศึกษาจริงจังโดยกำหนดขนาด ของใบกระท่อมอย่างเหมาะสม กระท่อมอาจจะมีฤทธิ์อย่างอื่นได้อีก ซึ่งการที่กระท่อมถูกประกาศเป็นยาเสพติด ทำให้ขาดการศึกษาและพัฒนาในส่วนนี้      
 
“ต้องอย่าลืมว่าสมุนไพรแบบนี้สามารถปลูกได้ในประเทศเรา ญี่ปุ่นถึงแม้จะได้จดสิทธิบัตรแต่ก็ปลูกไม่ได้ อนาคตเราอาจจะขายสารสกัดได้ แต่อย่างไรก็ตามเราต้องควรคิดจะขาย know-how ผลิตภัณฑ์จากกระท่อมบ้าง ถ้าเราคิดเป็นเราจะต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ ได้มากมาย ไม่ต้องกลัวสิทธิบัตรของที่ญี่ปุ่นที่จดไว้” รศ.ดร.อรุณพร กล่าว

รศ.ดร.อรุณพร อธิบายว่า ส่วนตัวมีโอกาสทำวิจัยเรื่องภูมิปัญญา เก็บข้อมูลการทดลองใช้ของชาวบ้านที่เป็นการลองผิดลองถูกแบบหลบกฎหมาย ซึ่งขณะนั้นอาจจะยังไม่เห็นผลการศึกษาชัดเจน เพราะชาวบ้านไม่กล้าบอกว่าใช้อย่างไร เพราะกระท่อมผิดกฏหมาย ตั้งแต่ปี 2522 แต่เมื่อกระท่อมถูกเปิดให้ถูกกฎหมายจึงจำเป็นต้องพูด เพราะสมุนไพรหลายอย่างก็ผ่านการลองผิดลองถูกของภูมิปัญญาการใช้กระท่อมซึ่งใช้กันมานาน  แต่พวกเราในฐานะแผนปัจจุบันก็จะมาคิดอีกแบบหนึ่งที่อยู่ในแง่ของการแปรรูป เพื่อให้ใช้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องมานั่งเคี้ยว เพื่อให้ได้ขนาดยาที่ใช้คงที่ เหมือนกับยาแผนปัจจุบัน

“แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพ อุดมสมบูรณ์ มีองค์ความรู้ แต่ถ้าไม่ได้ถูกดึงมาใช้เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ อย่างจริงจัง ก็จะสูญเปล่า ดังนั้น แพทย์ และเภสัชแผนปัจจุบันก็ต้องมาช่วยกันนำภูมิปัญญาการใช้กระท่อม ดังกล่าวออกมาพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ และใช้ เพื่อทดแทนยาที่มาจากต่างประเทศให้ได้” อาจารย์อรุณพร ระบุ

นักวิจัยรางวัล “เสม อวอร์ด 2562” รายนี้กล่าวต่อไปว่า หากรัฐบาลคิดและสามารถดึงภูมิปัญญาออกมาทำการพิสูจน์และพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง แล้วคิดต่อเป็นจิ๊กซอร์ด้วยงานวิจัยให้จบ ก็จะเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทย โดยเฉพาะกระท่อมที่มีทั้งก้านแดงก้านขาว เรายังไม่เคยพิสูจน์ว่าก้านแดงดีกว่าก้านขาวไหม ถ้าเราทำการวิจัยจะต้องทำทดลองทั้งหมด ตั้งแต่สายพันธ์ เพื่อมาเปรียบเทียบกัน มากไปกว่านั้นยังมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน ซึ่งก็ยังไม่เคยทำวิจัยแต่มีการใช้ เช่นลดความดัน ไม่แน่ว่ากระท่อมอาจจะสามารถช่วยลดอาการดังกล่าวได้ เพียงแต่ในส่วนนี้ยังไม่เคยถูกทดลองในวิทยาศาสตร์

รศ.ดร.อรุณพร กล่าวว่า การใช้สมุนไพรมีทั้งข้อดีข้อเสีย เป็นดาบ 2 คม ถ้าคนเข้าใจ นำไปใช้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ และมีคุณอนันต์ ส่วนตัว กล่าวว่ากระท่อมมีประโยชน์อย่างมาก ฉะนั้นจำเป็นต้องเร่งทำการวิจัยแบบปูพรม เพื่อให้มีการพัฒนายาจากสารสกัดกระท่อมให้ใช้เป็นรูปของยาแผนปัจจุบัน ทดแทนยาแก้ปวด ยาเบาหวาน และยาอื่นๆ ที่มีการวิจัย หรืออาจใช้ในรูปแบบของยาแผนไทยที่มี ยาแก้พิษที่เกิดจากกระท่อมโดยตรง และไม่ค่อยเห็นด้วยในการนำมาทำเป็นอาหาร และรับประทานกันมากๆ  เพราะถ้าเกิดผลเสียทางร่างกายก็จะถูกปิดและห้ามใช้อีก

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกลุ่มชาวบ้านที่จะต้องออกไปทำงานหนักๆ เช่นกรีดยาง ทำนา ทำสวน  แล้วใช้กระท่อม เพื่อให้ทำงานได้ทน ตรงนี้ก็ต้องมีการอธิบายและให้ความรู้ว่าควรทานอย่างไร และพิษของกระท่อมคืออะไร ส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องเผยแพร่ และถ้าต้องใช้ จะเป็นการใช้ในรูปแบบของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ปฏิบัติมา นานที่ทุกคนจะทราบ ก็ควรต้องยอม เพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบง่ายๆ ที่สามารถลดการเกิดโรค ที่เรื้อรังอย่างเช่นเบาหวาน โดยไม่ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org