“หมอธีระวัฒน์” เสนอทางออกฉีดวัคซีนในเด็ก ลดเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่อาจพบจากไฟเซอร์ ชี้ใช้วัคซีนเชื้อตาย “ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม” 2 เข็ม และบูสเตอร์โดสด้วย “แอสตร้าฯ หรือ ไฟเซอร์” แต่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังแทนกล้ามเนื้อ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ชี้ทำมาแล้วในบุคลากรการแพทย์หลายร้อยแล้ว ศึกษาร่วมสถาบันโรคทรวงอก ปลอดภัยดี ส่วนต้องซื้อซิโนแวคเพิ่มหรือไม่ อยู่ที่จำนวนเด็กที่ต้องฉีดด้วยวิธีนี้

ตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยแนะนำวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งขณะนี้คือ ไฟเซอร์ ส่วนกลุ่มอายุน้อยกว่า 12 ปี ยังอยู่ระหว่างติดตามผล ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มที่กังวลว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กจะมีความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วยหรือไม่นั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้เป็นที่ทราบว่า กลุ่มเด็กเป็นกลุ่มที่เมื่อรับเชื้อแล้วจะมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้ใหญ่ได้ง่าย เพียงแต่อาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ ความรุนแรงน้อยกว่า ยกเว้นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องให้วัคซีนป้องกันโควิดในเด็กทุกคน แต่ต้องเลือกที่ปลอดภัยที่สุด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่ให้ได้ในอายุ 12 ปีขึ้นไปนั้น ยังมีข้อควรระวังเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งมักเกิดในเด็ก แต่ถามว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบอุบัติการณ์จากการฉีดวัคซีนมากหรือไม่ ในสหรัฐอเมริกาพบประมาณ 1 พันกว่าราย ซึ่งสหรัฐระบุว่า จากที่ฉีดวัคซีนแล้วทั้งหมดราว 100 ล้านโดส ซึ่งจริงๆจำนวนนี้คือ คนทั้งหมด แต่หากพูดถึงเฉพาะกลุ่มเด็ก ก็ถือว่าแม้ความเสี่ยงไม่มาก แต่ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปด้วยไฟเซอร์หรือไม่ หรือมีแนวทางอื่นที่น่าจะปลอดภัยกว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้จุฬาภรณ์มีการนำร่องเตรียมฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 10-18 ปี ซึ่งใช้วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่เป็นชนิดเชื้อตาย ขณะที่สถานเสาวภาก็เช่นกัน โดยข้อมูลจากประเทศจีน มีการฉีดวัคซีนในเด็กแล้ว อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายให้แก่เด็ก ไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ในขณะที่ผลข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจก็ไม่ต้องกังวล โดยมีวิธีกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ดังนี้ ให้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็ม แต่ด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่มาก จึงจำเป็นต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดส ด้วยวัคซีนต่างชนิด คือ ไวรัลเวกเตอร์ หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือเป็นชนิด mRNA คือ ไฟเซอร์ได้ แต่การกระตุ้นเข็ม 3 ต้องฉีดใต้ผิวหนังแทนกล้ามเนื้อ

“การฉีดด้วยวิธีนี้จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ตก ให้สูงขึ้นได้ และยังป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทางจุฬาฯ ได้ร่วมกับสถาบันโรคทรวงอก ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ยินดีและสมัครใจในการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ ฉีดผ่านใต้ผิวหนัง ซึ่งฉีดไปหลายร้อยคน ไม่พบผลข้างเคียง ปลอดภัยทุกราย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกผ่านใต้ผิวหนังแทน โดยไม่ต้องฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว่า ก็เป็นไปได้ เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลศึกษาในเด็กมารองรับ ที่ยกตัวอย่างข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

เมื่อถามว่าข้อมูลดังกล่าวจะแตกต่างจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ที่ออกมาว่า ให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เป็นการให้ข้อมูลอีกด้าน เพราะการฉีดให้เด็กเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งหากเด็กเป็นกล้ามเนื้อหัวใจ ยังไม่รู้ว่าจะมีผลระยะยาวหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เนื่องจากขณะนี้มีผู้ปกครองกังวลและโทรสอบถามมายังตนมากกว่า 50 คนแล้ว

เมื่อถามว่า สรุปแล้วไทยยังจำเป็นต้องซื้อวัคซีนซิโนแวค เพิ่มเพื่อกรณีนี้ให้กับเด็กหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ต้องมาดูว่าปริมาณที่นำเข้ามาแล้ว มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กจำนวนเท่าไหร่ และหากจะฉีดในกรณีที่ตนเสนอนั้น ก็ถือว่าเป็นพื้นฐานของวัคซีนที่ดี และเป็นการต่อยอดวัคซีนซิโนแวค ให้มีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยอาจต้องพิจารณาจำนวนจากเด็กที่ต้องการก่อน และเมื่อฉีดครบ ฉีดจบแล้วก็จบเลย และสามารถไปต่อยี่ห้ออื่นได้

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org