กรมควบคุมโรคขอความกรุณาอย่าด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค ยืนยันตั้งแต่ระบาดแรกๆ เป็นวัคซีนที่ช่วยชีวิตคนไทยได้ ขณะที่เดลตาระบาด ทำวัคซีนทุกชนิดประสิทธิภาพลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย ขอความกรุณาการสื่อสารทำให้คนหวาดกลัว ทำคนเสียโอกาสรับวัคซีน หลายคนเสียชีวิตเหตุไม่กล้ารับวัคซีน เพราะได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ตามที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กคัดค้านการกล่าวหาวัคซีนจีนโดยไร้เหตุ ซึ่งระบุว่า มีบางคนและบางองค์การของประเทศไทยได้ด้อยค่าและใส่ร้ายวัคซีนจีนโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ ซึ่งเป็นการกล่าวหามุ่งร้ายที่ไม่เคารพข้อมูลวิทยาศาสตร์และความเป็นจริง และเป็นการทำร้ายความหวังดีของฝ่ายจีนในการสนับสนุนประชาชนไทยต่อสู้กับโรคระบาด สถานทูตจีนจึงขอคัดค้านอย่างเด็ดขาด และเรียกร้องให้บุคคลและองค์การที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำผิดอย่างร้ายแรงเช่นนี้
ความคืบหน้าเรื่องนี้วันที่ 4 ก.ย. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรณีสถานทูตจีนได้ออกแถลงการณ์ในเฟซบุ๊กนั้น ต้องเรียนว่า ช่วงที่ไทยต้องการวัคซีนมากๆ ยิ่งช่วงเดือนก.พ. และ มี.ค. ซึ่งเป็นการระบาด ที่จ. สมุทรสาคร ทางการจีนเข้ามาช่วยไทย เนื่องจากขณะนั้นทั่วโลกต้องการวัคซีนมาก แต่จีนเจียดมาให้ไทย ซึ่งข้อมูลวิชาการมีมากมายรองรับถึงประสิทธิผลของวัคซีนซิดนแวค ดังนั้น วัคซีนซิโนแวคจึงช่วยชีวิตคนไทยได้จำนวนมาก แต่เมื่อมีเดลตาเข้ามา วัคซีนทุกชนิดประสิทธิภาพลดลงหมด แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีประสิทธิภาพ
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์แพทย์ทั้งหลายศึกษาวิจัย และมีการปรับสูตรไขว้ขึ้นมา เพื่อให้การฉีดไปได้ดี และทั่วโลกยอมรับขึ้น ซึ่งหลายประเทศก็มีการฉีด เช่น เยอรมัน มีเอกสารวิชาการตามมา และการส่งมอบวัคซีนจากจีนทุกครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีน และเขาให้ความสำคัญกับเรื่องคอรัปชั่น เช่นเดียวกับไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า เป็นบริษัทระดับโลก หากมีเรื่องเงินทอน คงไม่นิ่งเฉยแน่นอน
“ ขอความกรุณาอีกครั้งหนึ่ง อย่าด้อยค่าวัคซีนที่เรามี ยืนยันความโปร่งใสของกระทรวงสาธารณสุขในการจัดหา ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ขอคนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีน จนหลายคนกลัวไม่กล้าไปฉีด ที่สะท้อนใจคือ มีข่าวจากสื่อมวลชน หรือจากข่าวสารใดก็ตาม ทำให้หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน ดังนั้น เพื่อประโยชน์ชีวิตคนไทย ขอให้มารับวัคซีนครบถ้วน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลกำหนดแจ้งไว้" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่มีเงินทอนเรื่องวัคซีน โดยเรามีวัคซีน 3 ชนิดหลัก คือ ชนิดเชื้อตาย ชนิด mRNA และชนิดไวรัลเวกเตอร์ ซึ่งวัคซีนซิโนแวคที่จัดหามาตั้งแต่ต้นปี เป็นที่ทาบว่าอยู่ที่ 17 เหรียญ แต่หลังจากมีการซื้อจำนวนมาก ความต้องการฉีดยังมี ตลาดเปิดกว้างขึ้น ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม แจ้งว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่ 9 เหรียญ ถ้าเทียบกับวัคซีนชนิดเดียวกันเชื้อตายถูกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ที่เป็นชนิด mRNA เมื่อเทียบกับอีกบริษัท ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อก็ถูกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน แอสตร้าฯก็ถูกกว่าเช่นกัน ดังนั้น เงินทอนจึงไม่มีแน่นอน
“ส่วนการทำสัญญาวัคซีน แม้ปัจจุบันวัคซีนจะมีมาก แต่ตลาดยังเป็นของผู้ขายอยู่ เพราะความต้องการวัคซีนมีมาก ซึ่งการทำสัญญากับแอสตร้าฯ เราทำมาตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่การวิจัยยังไม่เสร็จ วัคซีนทุกชนิดตอนนั้นยังวิจัยไม่เสร็จ และเมื่อวิจัยไม่เสร็จก็ยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่เมื่อเราเห็นแนวโน้มว่าจะทำสำเร็จ เราก็มีการทำสัญญาล่วงหน้า โดยการทำสัญญาจึงไม่ใช่สัญญาปกติ เพราะนี่เป็นการระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ หากเป็นระบบปกติเราจะไม่ลงนามแน่ เพราะของที่ผลิตจะเสร็จเมื่อไหร่ไม่รู้ ประสิทธิภาพเป็นอย่างไรอีก” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ดังนั้น การลงนามในสัญญาของทุกบริษัทวัคซีนโควิด19 จะมีข้อกำหนดว่า ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในสัญญา จนกว่าบริษัทจะยินยอม แต่เราก็จำเป็นต้องลงนามในสัญญา ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถฉีดวัคซีนได้กว่า 35 ล้านโดสในทุกวันนี้ แต่เราก็ทำตามกฎหมายทั้งหมด และตัวสัญญาก็มีการปรึกษาอัยการสูงสุดมาตลอด มีการรายงานผู้บังคับบัญชาให้ทราบ การของบประมาณมีการใช้งบกลาง งบเงินกู้ ดังนั้น การซื้อทุกครั้ง การขออนุมัติต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. ซึ่งซีอีโอของแอสตร้าฯ ทำหนังสือถึงนายกฯ ว่าจะส่งมอบวัคซีน 64 ล้านโดสในปีนี้ และทราบมาว่าโรงงานที่ผลิตในไทยมีศักยภาพ และกำลังการผลิตเป็นไปด้วยดี กรณีสัญญาไฟเซอร์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเราจองไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ขณะนี้ได้รับการแจ้งว่าจะส่งมอบวัคซีนให้ตามสัญญา คือ ไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยเขาสัญญาว่าจะส่งมอบให้ก่อนสัญญาภายในปลายเดือนนี้
- 37 views