พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ศูนย์กระจายวัคซีนเอกชน 25 ศูนย์ของ กทม.ที่ผ่านมามีจำนวนการจองผ่านโครงการไทยร่วมใจประมาณ 2 ล้านคน โดย กทม.สามารถจัดฉีดได้แล้วกว่า 70 % ส่วนเข็ม 2 ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. และจะสิ้นสุดในวันที่ 4 ก.ย.นี้ น่าจะจัดให้มีการฉีดได้ 2 แสนกว่าโดส โดยที่เหลือจะเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงระยะเวลา 8 สัปดาห์หลังจากการฉีดเข็มแรก คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค.
"ทางกทม. ตั้งใจว่าภายในปีนี้ทั้ง 25 ศูนย์ที่มีน่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งอยากให้คนใน กทม. ได้รับวัคซีน 100 % ทั้งเข็ม 2 และเข็ม 3 โดยทาง กทม. พร้อมจะดำเนินการ ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 4 ก.ย. จะประเมินอีกครั้งว่าเหลือวัคซีนอีกจำนวนเท่าไร แล้วจะเปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนจองผ่านโครงการไทยร่วมใจอีกครั้ง" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ยืนยันว่า 25 ศูนย์กระจายวัคซีนของ กทม. ตั้งเป้าไว้สามารถรองรับการให้บริการฉีดได้ 8 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมามีจำนวนการฉีดเฉลี่ยอยู่ประมาณวันละ 5 หมื่นราย โดยที่ผ่านมาเคยรองรับผู้เข้าฉีดวัคซีนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 7.1-7.2 หมื่นรายต่อวัน
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. กล่าวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในกทม. ในช่วง 3-4วันที่ผ่านมาลดลงเหลือประมาณ 3 พันกว่าราย จากปัจจัยการฉีดวัคซีนและควบคุมอัตราการเคลื่อนไหวของประชากรตัดวงจรการระบาด โดยการครองเตียงในโรงพยาบาลลงลงเหลือ 40 % และ Community Isolation (CI) เหลือเกิน 50% ซึ่งแสดงถึงการรักษาพยาบาลที่ผ่อนคลายมากขึ้น
"กรุงเทพ Sandbox จะต้องดู 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ การจัดหา AntigenTest Kit (ATK) ให้เพียงพอและราคาถูก บวกกับการฉีดวัคซีน ซึ่งทางมาตรการผ่อนคลายต่างๆนั้นทาง ศบค.จะพิจารณาประกาศ ไม่ใช่แค่ กทม. เพียงแห่งเดียวแต่น่าจะทั้ง 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงควบคุมเข้มงวด"
"กทม.ได้รับมอบหมายให้จัดการฉีดวัคซีนกับประชาชนทั่วไปทุกกลุ่มที่ตกหล่น นอกเหนือจาก กระทรวง อว.ที่ดูแลบุคลากรทางการศึกษา กับ กระทรวงแรงงานที่ดูแลผู้มีสิทธิตามมาตรา 33 ซึ่งจะดูจำนวนวัคซีนที่เหลือหลังจากวันที่ 4 ก.ย.ว่ามีผู้ลงทะเบียนผ่านระบบไทยร่วมใจที่วันนัดไม่มาจำนวนเท่าไร โดย กทม. มีความต้องการวัคซีนเพิ่มเติมและได้ทำการร้องขอกับทาง ศบค.แล้ว เนื่องจากต้องการให้คนที่อาศัยอยู่ในกทม. ได้รับวัคซีน 100% ถ้าได้วัคซีนเพิ่มและเพียงพอก็จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนจองนัดฉีดได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจาก กทม.ไม่ได้เป็นผู้จัดหาวัคซีน แต่แนวทางจัดสรรวัคซีนของ กทม. หลักควบคุมการระบาดนั้นเป็นเหมือนเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น ลอนดอน คือควบคุมหัวเมืองให้ได้ก่อน เราไม่ได้หาวัคซีนโดยตรง มีเพียงหน้าที่ฉีดให้เร็วที่สุด" ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผ้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า หลังจาก 1 ก.ย.มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และมีกิจกรรมมากขึ้น ทาง กทม. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ไม่ลดมาตรการเตรียมตัว โดยที่ผ่านมาด้านการแพทย์เตียงแดงลดลงเพียงเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 30-40 % ทั้งนี้หากจำนวนผู้ติดเชื้อในกทม. น้อยกว่า 3 พันคนต่อวัน ติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ สถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่ขณะนี้ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
"กรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม. ลดลงแต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงสูง เนื่องจากเป็นอัตราการเสียชีวิตสะสมประมาณ 15 วันขึ้นไป ไม่ได้หมายความว่าติดเชื้อวันนี้แล้วจะเสียชีวิตวันนี้ กทม. เคยมียอดเสียชีวิตต่อวันมากกว่า 100 ราย โดยขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม จากการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ให้กับประชาชนค่อนข้างมากประมาณ 30 % และฉีดให้กับผู้สูงอายุไปแล้วกว่า 90% กทม.น่าจะมีผู้ติดเชื้อจนสูญเสียลดน้อยลงด้วย" นพ.สุขสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ สถิติการฉีดวัคซีนของ กทม.ที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายในศูนย์กระจายวัคซีน 25 แห่งเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2564 ระบุว่าจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในกทม. รวมทั้งสิ้น 9,039,877 คน โดยมีผู้จองวัคซีนสะสมผ่านโครงการไทยร่วมใจ 2,063,926 คน จัดฉีดได้แล้วทั้งสิ้น 1,467,876 คน คิดเป็น 71 %ของยอดจอง โดยแบ่งเป็นเข็ม1 จำนวน 1,369,254 คน และเข็มที่2 จำนวน 98,546 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 1.45 ล้านโดส ขณะที่ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปใน กทม. ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 1,254,332 คน ผ่านโครงการไทยร่วมใจ 71,573 คน หรือ 91% ของยอดเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 1,373,250 คน
- 39 views