ตีเหล็ก ATK เมื่อยังร้อน เพื่อสร้างมาตรฐานการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่อิงหลักฐานวิทยาศาสตร์และวิชาการ
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีชุดตรวจโควิดเบื้องต้น ATK ว่า
การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจด้วยตนเอง หรือ Antigen test kid (ATK) เป็นเครื่องมือที่ถ้าใช้ได้ดีจะนำสังคมไทยรอดจากการระบาดของโรคโควิด-19ในวงกว้างได้ เพราะสามารถแยกคนป่วยโรคโควิด-19 ออกจากคนปกติได้อย่างรวดเร็ว (จากภาพจำที่มีคนต่อคิวไปขอตรวจที่โรงพยาบาลกันข้ามคืนเพื่อขอตรวจ RT PCR) ลดอัตราการแพร่เชื้อไปสู่ผู้คนรอบข้างได้ ATK กลับเป็นประเด็นร้อนเนื่องจากการประมูลซื้อ ATK ของรัฐถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่รัฐเลือก ผมเลยอยากที่จะนำความรู้พื้นฐานในการวิเคราะห์ความสามารถของชุดตรวจต่างๆผ่าน ตาราง ความไว (sensitivity) และ ความจำเพาะ (specificity) ที่มีการสอนในโรงเรียนแพทย์ มาปรับใช้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจวิธีคิดของการประเมินคุณภาพของชุดตรวจ ATK ร้อนนี้
โดยค่าความไว (sensitivity) ของ ATK ที่รัฐจะซื้อ (ตารางที่ 1) สมมุติว่ามีค่า 90% และ ความจำเพาะ (specificity) 98% ส่วน ATK ที่มีการใช้แพร่หลายอื่น (ตารางที่ 2) มีค่าความไว (sensitivity) 95% และ ความจำเพาะ (specificity) 99% จะพบว่าการให้ผลบวกลวง และ ผลลบลวง ต่างกันดังตารางข้างล่าง ในการตรวจประชากร 10,000 คน ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณร้อยละ 10
ค่าที่น่าสนใจและนำมาสู่การตั้งคำถามเชิงนโยบายของผู้ที่ตั้งข้อสงสัย คือ ผลบวกลวง และ ผลลบลวง ครับ โดยจะเห็นว่าค่าทั้งสองสามารถแปลเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในประชากรทั่วไป ดังนี้ จะพบว่าตารางที่ 1 (ATK ที่รัฐจะจัดซื้อ) เทียบกับตารางที่ 2 (ที่ใช้กันแพร่หลาย) จะพบว่ามี ผลลบลวง เพิ่มขึ้น 50 คน ต่อทุกการตรวจ 10,000 คน ซึ่งแปลว่าจะมีประชาชน 50 คนที่ป่วยเป็นโควิด -19 ถูกบอกว่าไม่ได้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นของทุกการตรวจ ATK 10,000 ราย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะไปแพร่เชื้อในชุมชนต่อไปอีกอย่างน้อย 3 – 7 วัน (ก่อนการตรวจซ้ำครั้งต่อไปตามมาตรฐาน)
ถ้าใช้ ATK ที่มีค่าความไวต่ำลงเล็กน้อยประมาณ 5% ไปกับประชาชน 8.5 ล้านคน จะมีผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 42,500 คนที่ถูกบอกว่าไม่ได้เป็นโรค และถ้าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้กักตัวให้ดี แต่ไปใช้ชีวิตตามปกติจะแพร่โควิด-19 ในชุมชนต่อไปได้อีกถึง 3 – 7 วัน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่โรคโควิด-19 ไปยังประชาชนจำนวนมากได้ถึงหลักหมื่นคน เมื่อใช้ ATK ที่ค่าความไว้ที่ต่ำลง
สำหรับผลบวกลวง จะเห็นว่าตารางที่ 1 เมื่อความจำเพาะ(specificity) ลดลงเพียง 1% อาจจะเกิดผลบวกลวงเพิ่มขึ้นถึง 90 คนต่อการตรวจ 10,000 ครั้ง ซึ่งถ้าไม่มีนโยบายรัฐที่จะให้ผู้ป่วย ATK บวก เข้ารับการรักษาในศูนย์พักคอยโดยไม่ต้องมีการตรวจ RT PCR ก็น่าจะไม่ส่งผลทำให้ประชาชนปกติ 90 คนนี้ต้องเข้าไปอยู่ปะปนกับผู้ป่วยโควิด-19ในศูนย์พักคอยจนต้องกลายผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย
อย่างไรก็ตามถ้าใช้ชุดตรวจที่มีค่าความจำเพาะ (specificity) ลดลง 1% นี้ไปกับคน 8.5 ล้านคน ก็จะส่งผลให้มีผู้ได้ผลบวกลวงมากถึง 76,500 ราย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบทำให้เกิดความกังวลใจต่อคนที่ได้รับบอกกล่าวว่าเขาน่าจะติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ไม่ได้ติดโรคจริงก่อนที่จะได้รับการตรวจ RT PCR เพื่อยืนยันผล ซึ่งเป็นใครคงไม่อยากได้รับผลตรวจ ATK แบบนี้
ทางกลุ่มนักวิชาการทั้งในมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุขจึงอยากเรียกร้องให้ ศบค.หรือหน่วยสนับสนุนงานวิจัยภาครัฐได้ รีบลงทุนเพื่อทำวิจัยเก็บข้อมูลจากสถานการณ์จริงในการใช้ชุดตรวจ ATK ที่ประชาชนอาจต้องดำเนินการตรวจด้วยตนเองหลายล้านครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสทองในการเปรียบเทียบชุดตรวจ ATK ที่รัฐจะซื้อและ ชุดตรวจ ATK อื่นที่ใช้กับแพร่หลาย เทียบกับผลที่ยืนยันด้วยการตรวจ RT PCR ที่ถือว่าเป็น gold standard โดยการออกแบบงานวิจัยที่ดีและรัดกุม จะช่วยยืนยันว่ารัฐได้จัดหาเครื่องมือที่มีคุณภาพมาให้ประชาชนใช้ (ความไว ความจำเพาะ ประมาณ 90% ขึ้นไปในสถานการณ์จริง)
ผลของการวิจัยนี้จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ที่จะช่วยในการตัดสินใจในการจัดซื้อ ATK ของรัฐที่คงจะต้องมีขึ้นอีกในอนาคต และจะทำให้รัฐบาลได้แสดงให้สังคมรับทราบโดยทั่วกันว่ารัฐบาลใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ชี้นำนโยบายสาธารณะที่สำคัญต่อชีวิตประชาชน ให้เกิดเป็นมาตรฐานว่ารัฐบาลได้สร้างกระบวนการติดตามประเมินผลการดำเนินนโยบายโดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์และวิชาการอ้างอิง
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=10223231084157327&id=1590490658
- 545 views