กทม. สปสช. ร่วมเปิด “ศูนย์พักคอยชุมชนเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา” เผยการใช้วิธี “Step down” ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการดีขึ้นแล้วมากักตัว-รับการดูแลต่อเนื่อง ก่อนกลับสู่ครอบครัว เป็นแนวทางพลิกแพลงหลังสถานที่ยังไม่เอื้อให้ใช้รองรับผู้ติดเชื้อ ก่อนมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อรับดูแลผู้ติดเชื้อได้ต่อไป
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ชุมชนเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อร่วมเปิดศูนย์พักคอยชุมชนเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา สำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงภาคการเมือง
พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า ศูนย์พักคอยชุมชนเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา เกิดจากความตั้งใจของ กทม. ที่อยากให้เป็นที่อยู่ของผู้ที่ไม่ติดเชื้อจะได้แยกออกมาจากครอบครัว แต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ ดังนั้นจึงปรับมาใช้รองรับคนไข้ที่เกือบหายแต่ยังไม่สามารถกลับเข้าไปในที่พักหรือแฟลตได้ ก็ให้เข้ามาดูแลที่นี่ก่อนเพื่อแยกตัวออกมาจากการอยู่ร่วมกับคนที่บ้าน โดยมีคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ช่วยดูแลคนไข้ และ สปสช.สนับสนุนคลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อให้บริการผู้ติดเชื้อ ทั้งในเรื่องค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ ค่ายาพื้นฐาน การประเมินติดตามอาการผ่านระบบวิดิโอคอล อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการปรับปรุงสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้มีศักยภาพรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียวที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการแทน
ด้าน ภญ.ยุพดี เปิดเผยว่า ทาง สปสช.ได้ร่วมมือและสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนในการจัดตั้งศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation (CI) ขึ้นหลายแห่งใน กทม. เพื่อรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่สะดวกในการทำ Home Isolation (HI) โดยอาจใช้พื้นที่ต่างๆ ในชุมชน เช่น วัด โรงเรียน หรืออาคารเอนกประสงค์ ให้เป็นที่พักของผู้ป่วยภายใต้การดูแลร่วมกันของชุมชน ร่วมกับโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการในพื้นที่
ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์พักคอยชุมชนเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา หลังผ่านความเห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งขึ้น และติดต่อทางสำนักงานเขตสาทรเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ ปรากฎว่าลักษณะสภาพแวดล้อมของอาคาร เช่น การไหลเวียนของอากาศ การจัดสัดส่วนพื้นที่ ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ กทม. กำหนดสำหรับใช้เป็นสถานที่พักของผู้ติดเชื้อ ดังนั้นในช่วงแรกศูนย์พักคอยนี้จะดำเนินงานในลักษณะ “Step down” คือรับดูแลผู้ป่วยที่เคยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมาแล้วระยะหนึ่ง จนเมื่ออาการดีขึ้นแล้วค่อยกลับมากักตัวประมาณ 14 วัน โดยรับการดูแลต่อเนื่องที่ศูนย์พักคอยแห่งนี้จนกว่าผู้ป่วยจะอยู่ในระยะปลอดภัยจากการแพร่เชื้อ แล้วจึงจะค่อยกลับสู่ครอบครัวและชุมชนตามปกติ และเมื่อมีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอนาคตก็จะเปิดรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีระดับอาการสีเขียวด้วย
“ชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่เห็นความสำคัญของการลดการแพร่เชื้อภายในชุมชน จึงจัดตั้งศูนย์พักคอยขึ้น ซึ่งทำงานร่วมกันระหว่างแกนนำชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่เข้ามาช่วยกันดูแลคนไข้ โดยทางหน่วยบริการจะแบ่งค่าใช้จ่ายจากงบดูแลประมาณ 400 บาทต่อราย มาให้กับแกนนำ เพื่อนำมาดูแลเรื่องอาหาร กิจกรรมประจำวันต่างๆ ขณะที่หน่วยบริการก็จะคอยโทรศัพท์คุยกับคนไข้” ภญ.ยุพดี กล่าว
นางจิตติมา ช่วงจั่น ประธานชุมชนเอื้ออาทรส่วนพลูพัฒนา กล่าวว่า ภายในชุมชนนั้นบางครอบครัวอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น บางครอบครัวอาจอยู่รวมกันถึงสองครอบครัว แล้วเมื่อติดเชื้อรายหนึ่งก็ต้องติดกันหมดทุกคน เพราะล้วนอยู่กินใช้ห้องร่วมกัน เจตนาของชุมชนจึงต้องการแยกผู้ป่วยออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายในวงกว้าง
“ศูนย์พักคอยที่ตั้งขึ้นนี้ เราอยากให้ผู้ป่วยที่กลับมาพักฟื้นได้กักตัวก่อน 14 วัน เพื่อที่ยังไม่ต้องออกไปเดินเพ่นพ่าน เพราะคนในชุมชนอาจยังไม่เชื่อใจ หรือต่อไปก็ให้คนที่มีความเสี่ยงสูงมาอยู่ที่นี่ก่อน เพื่อรอประสานการตรวจคัดกรองต่อไป โดยมีการประสานกับหน่วยบริการในพื้นที่เอาไว้ คือศูนย์บริการสาธารณสุข 14 แก้ว สีบุญเรือง” นางจิตติมา กล่าว
ด้าน น.ส.อรนุช เลิศกุลดิลก ผู้จัดการโครงการเพื่อผู้สูงอายุ FOROLDY กล่าวว่า ชุมชนเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา มีลักษณะเป็นแฟลต 5 ชั้น จำนวน 14 อาคาร มีห้องรวมทั้งหมด 558 ห้อง มีผู้พักอาศัย 760 ครัวเรือน รวมประชากร 2,230 คน เฉลี่ยห้องละ 4-5 คน ซึ่งถือว่าอยู่กันอย่างหนาแน่นพอสมควร โดยช่วงการระบาดโควิด-19 ในระยะแรกมีผู้ติดเชื้อคราวละ 1-2 คน แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการติดกันเป็นครอบครัว จนปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมขณะนี้เกือบ 100 ราย
น.ส.อรนุช กล่าวว่า ในการจัดการผู้ติดเชื้อ ทางศูนย์บริการสาธารณสุข 14 แก้ว สีบุญเรือง จะแยกตัวผู้ป่วยตามระดับอาการ หากสีเขียวก็จะไปอยู่ Hospitel ส่วนสีเหลืองจะไปโรงพยาบาลบุษราคัม อย่างไรก็ตามเมื่อมองถึงแนวโน้มการติดเชื้อ รวมถึงเห็นศักยภาพของอาสาสมัครในชุมชนนี้ จึงได้เข้ามาพูดคุยและเป็นตัวกลางประสานกับหน่วยงานที่ดูแลอาคารดังกล่าว เพื่อขอใช้จัดตั้งเป็นศูนย์พักคอย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากการเคหะแห่งชาติ
“การใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นศูนย์พักคอยก็ตรงกับความต้องการของคนในชุมชน เพราะที่ผ่านมาเวลามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา คนในครอบครัวก็จะขอมาแยกพักที่นี่ชั่วคราว หรือกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์พักคอยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่หลังจากนี้ก็จะมีการเข้ามาจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น และเมื่อมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เข้าเกณฑ์ที่ทาง กทม.กำหนด ก็จะสามารถจัดการให้ศูนย์นี้มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยให้สมกับเจตนารมย์ของการเป็นศูนย์พักคอยได้” น.ส.อรนุช กล่าว
ภายในวันเดียวกัน รองเลขาธิการ สปสช. ยังได้เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยชุมชนพัฒนาบึงขวาง เขตมีนบุรี ภายใต้การกำกับดูแลของคนภายในชุมชน และคลินิกเวชกรรมมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ซึ่งได้เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน และสามารถดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จนหายกลับบ้านไปได้แล้วกว่า 60-70 ราย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 81 views