วิชาชีพรังสีวอนผู้ใหญ่กระทรวงฯ หลังประสบปัญหาทำงานเอกซเรย์ผู้ป่วยโควิดถึงตัว แต่กลับถูกเลือกปฏิบัติไม่ได้ค่าเสี่ยงภัยคิดตามเกณฑ์รายผลัด แต่ให้คิดเป็นรายชั่วโมง ทั้งที่การทำงาน 2-3 ชั่วโมง เอกซเรย์คนไข้กว่า 40-50 คน และต้องไปรพ.สนาม ทำงานเอกซเรย์ต่อเนื่อง ขอผู้มีอำนาจใน สธ.ช่วยเหลือ หากยังเห็นความสำคัญนักรังสีเอกซเรย์ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 น.ส.กมลวรรณ แสงสุวรรณ นักรังสีการแพทย์ชำนาญการ และคณะกรรมการและเลขานุการฝ่ายกิจกรรมและวิชาการ ชมรมรังสีการแพทย์ชุมชนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขออกหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยยืนยันเคสโควิด19 นั้น ปรากฎว่าขณะนี้วิชาชีพรังสี ประสบปัญหาในเรื่องการเบิกค่าเสี่ยงภัยดังกล่าว โดยปัญหาที่เกิดในตอนนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนไข้ที่ตรวจพบว่าผลเป็น positive จะต้องมีการทำการเอกซเรย์ปอดทุกรายและบางคนไม่ได้เอกซเรย์เพียงแค่ครั้งเดียว

โดยวิชาชีพรังสีถูกสั่งให้ไปปฎิบัติงานในตึกโควิดด้วยเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ บางแห่งไม่มี ต้องนำมาเอกซเรย์ที่แผนก โดยในการปฏิบัติงานของเราจะเข้าปฏิบัติงานเป็นรอบๆ เพื่อการทำงานที่สะดวก และแต่ละครั้งเราจะนัดคนไข้เป็นเวลาเดียวกัน และเอกซเรย์พร้อมกัน เพื่อลดจำนวนครั้งที่เข้าสัมผัสโรค และลดปริมาณการใช้ชุดที่เข้าไปปฏิบัติงาน เพราะอุปกรณ์ป้องกันไม่เคยเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจำนวนบุคลากรมีจำกัด ทั้งโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน อย่างที่ทราบว่า มีบุคลากรอยู่เพียงคนเดียว จำเป็นต้องบริหารจัดการเวลาในการทำงาน เมื่อเอกซเรย์คนไข้โควิดแล้วจะต้องออกมาทำการเอกซเรย์คนไข้ปกติด้วย รวมทั้งยังต้องผลัดเปลี่ยนกันไปปฎิบัติงานใน รพ. สนามของแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด

“พวกเราทำงานเช่นนี้มาตลอด แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับความเห็นใจในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งที่ในหนึ่งวันของการปฎิบัติงาน ในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากมายกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด แต่เอกซเรย์กลับถูกตีความว่า ให้เราเบิกค่าเสี่ยงภัยตามเวลาระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน โดยให้เป็นชั่วโมงชั่วโมงละ 125 บาท ทั้งที่บางครั้งในเวลา 2-3 ชั่วโมง เราเอกซเรย์คนไข้ไป 40-50 กว่าคน เรารีบเร่ง ทำงานเพื่อให้แพทย์ได้เห็นภาพเอกซเรย์ เพื่อแยกอาการของโรคในการรักษา ซึ่งงานที่กล่าวมา ยังไม่รวมคนไข้เร่งด่วน คนไข้อาการหนักช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใส่ท่อช่วยหายใจ ที่เราจะต้องรีบเข้าไปปฎิบัติงาน ต้องไปยกคนไข้เพื่อใส่ฟิล์มเอกซเรย์ นี่คือภาวะเสี่ยงทั้งหมด" น.ส.กมลวรรณ กล่าว

น.ส.กมลวรรณ กล่าวว่า แม้วิชาชีพรังสีจะเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ทำงานกับผู้ป่วยโควิด แต่ในขณะเดียวกันตามเอกสารการตั้งเบิก และคำสั่งสามารถเบิกได้เป็นผลัด ผลัดละ 1,000 บาท พวกเรากลับไม่ได้ ในบางแห่งการเงิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตีความว่า ให้เราได้ตามระยะเวลาที่เราเข้าไปทำงาน โดยไม่เข้าใจในบริบทการทำงานของการเอกซเรย์ว่า หน้างานเป็นอย่างไร ปริมาณคนไข้มีเท่าไหร่ บางวันไม่มีใครที่เข้าไปอยู่กับคนไข้ใช้ระยะเวลาติดต่อกันนานเท่ากับเอกซเรย์ และในทางปฏิบัติจริง ผู้ปฏิบัติงานไม่มีใครอยู่กับคนไข้ถึง 8 ชั่วโมง

"ในการเบิกค่าเสี่ยงภัยในครั้งนี้ เอกซเรย์กลับไม่ได้รับขวัญและกำลังใจ ที่เกี่ยวกับค่าเสี่ยงภัย ทั้งๆที่คนไข้ทุกคนจะต้องได้รับการเอกซเรย์และทุกคนไม่เคยเอกซเรย์ต่ำกว่า 4 ครั้ง ถ้าคิดว่าพวกเราทำงานไม่เหมาะสมกับค่าเสี่ยงภัย ลองนำจำนวนของคนไข้ที่ยืนยันเชื้อในโรงพยาบาลทั้งหมด ยังไม่รวมคนไข้ในคลินิก ARI ที่เราต้องปฏิบัติงาน และในคนเดียวไม่สามารถเบิกซ้ำซ้อนได้ คูณด้วย 4 จะรู้ว่าเอกซเรย์ปฏิบัติงานหนักแค่ไหน ในสภาวะที่ขาดแคลนคน สิ่งที่เราต้องการ ขอ ร้อง ขอให้ผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ หันมามองงานเอกซเรย์ และให้พวกเราได้ค่าเสี่ยงภัยเป็นผลัด เท่ากับวิชาชีพอื่นที่ปฏิบัติงานอยู่ในสภาวะการระบาดของโรคโควิด ตามเอกสารคำสั่ง โดยมีความชัดเจนในเรื่องการตีความ ของการเงินใน สสจ. แต่ละแห่ง เพื่อขวัญและกำลังใจให้พวกเราชาวเอกซเรย์" นักรังสีการแพทย์ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org