รองปลัด สธ. เผยกรณีนักรังสีร้องเกณฑ์ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยถูกคิดเป็นชั่วโมง ไม่เหมือนวิชาชีพอื่น ต้องหารือกับ รพ. ต้นสังกัดมอบหมายงานลักษณะใด หากทำงานต่อเนื่อง เหมือนกรณี รพ.บุษราคัม ต้องนับเป็นผลัด เพราะทำงานยาวเป็นประจำ ย้ำ! การเบิกจ่ายค่าตอบแทนต้องยึดเกณฑ์ภาพรวม ส่วนข้อยกเว้นอยู่ที่ลักษณะงาน

ตามที่วิชาชีพรังสีออกมาร้องขอผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ช่วยพิจารณาช่วยเหลือ หลังจากพบปัญหาการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานผู้ป่วยโควิด-19 โดยได้รับเป็นรายชั่วโมง แทนที่จะได้รับเป็นผลัดเหมือนวิชาชีพอื่น โดยระบุว่า นักรังสีทำงานหลายที่ ทั้งรพ. รพ.สนาม รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ ซึ่งวันหนึ่งต้องเอกซเรย์ผู้ป่วยโควิดกว่า 40-50 รายนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ผ่าน Hfocus ว่า จากหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแบ่งออกกว้างๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนผลัดละ 1,500 บาท และกลุ่มที่ได้รับ 1,000 บาท ซึ่งการนับเป็นผลัด หมายถึงกรณีการดูแลคนไข้โควิดเป็นประจำต่อเนื่อง อย่างกรณีนักรังสี ก่อนหน้านี้มีกลุ่มที่ต้องไปดูแลทำหน้าที่เอกซเรย์คนไข้ต่อเนื่องที่โรงพยาบาลบุษราคัม มีรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ประจำ ซึ่งกรณีนี้ได้เป็นผลัด

นพ.ธงชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นักรังสีที่ทำงานยังมีกลุ่มที่อยู่ประจำโรงพยาบาล ที่อยู่ห้องเอกซเรย์ ซึ่งทำหน้าที่เอกซเรย์ทั้งคนไข้ทั่วไป และคนไข้โควิด รวมไปถึงกลุ่มที่อยู่ในตึกผู้ป่วยโควิด ที่เป็นการเอกซเรย์เคลื่อนที่ โดยต้องเอาเครื่องเอกซเรย์เข้าไปทำงานนั้น ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ที่ลักษณะงานเป็นสำคัญ หากทำงานตลอดเวลาก็เรียกว่าเป็นผลัด แต่บางกรณีที่นับเป็นชั่วโมง เนื่องจากอาจไม่ได้ดูผู้ป่วยโควิดทั้งหมด แต่ต้องดูผู้ป่วยทั่วไป ตรงนี้ทางโรงพยาบาลที่ตนเองสังกัดจะทราบดีว่า มีลักษณะงานอย่างใด

“นักรังสีที่ทำงานเอกซเรย์คนไข้โควิดตลอด อย่างกรณี รพ.บุษราคัม ตรงนี้ไม่ต้องกังวล เพราะเห็นชัดอยู่แล้วว่า มาดูแลคนไข้โควิดและอยู่ยาวก็ต้องได้รับค่าตอบแทนเป็นผลัด ไม่ใช่ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยขอให้หารือหรือปรึกษากับทางโรงพยาบาลที่ตัวเองสังกัด เพราะโรงพยาบาลจะทราบดีที่สุดว่า มอบหมายงานให้ทำลักษณะใด อย่างไร เพราะแต่ละโรงพยาบาลจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของแต่ละโรงพยาบาลมอบหมายให้  ซึ่งไม่ใช่ว่า เจ้าหน้าที่รังสีอย่างเดียว แต่ทุกวิชาชีพก็จะอิงเกณฑ์ตามนี้ทั้งหมด” นพ.ธงชัย กล่าว

รองปลัด สธ.กล่าวย้ำว่า แต่อย่างไรกระทรวงก็จะแจ้งให้กับผู้บริหารแต่ละโรงพยาบาลให้ดูแล เรื่องขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ทุกระดับให้เหมาะสมและดีที่สุดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สธ.ออกแนวทางเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนทำงานโควิด รับเดือนละ 1-1.5 พันบาท ระยะเวลา 7 เดือน

: นักรังสีร้องเรียกผู้บริหาร สธ. ประสบปัญหาเกณฑ์ค่าเสี่ยงภัยไม่เหมือนวิชาชีพอื่น