กรมการแพทย์แจงข้อมูลยาฟาวิพิราเวียร์ ยังใช้ในผู้ป่วยโควิด19ได้ แต่ต้องให้เร็วภายใน 4 วันหลังมีอาการ ขณะเดียวกันพร้อมติดตามผลการศึกษายาชนิดใหม่ๆ รวมทั้งยาไอเวอร์เม็คติน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 20 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงยารักษาโควิด19 ว่า จากประเด็นที่มีข้อซักถามกรณีโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้มีการทบทวนผลการศึกษาหลายๆประเทศว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีผลต่อการรักษาหรือไม่นั้น อย่างไรก็ตาม กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัสทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป และถูกร่างกายกำจัดออกไปได้

ส่วนข้อบ่งใช้นั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนรักษาไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีการศึกษานำมาใช้รักษาไวรัสอีโบลาได้ผล จึงเป็นยาต้านไวรัส หรือสามารถใช้กับไวรัสได้หลายตัว อย่างไรก็ตาม ช่วงปีที่แล้วที่เริ่มมีการระบาด ประเทศไทยก็มีการศึกษาข้อมูลจากที่อื่นๆ แต่ขอย้ำว่า ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่มียาต้านไวรัสตัวไหนใช้รักษาโควิด19 เพราะจะทำได้ต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างยาตัวนี้ กับยาหลอก เพื่อศึกษาวิจัย แต่กรณีโควิด19 อยู่ระหว่างทดลอง ยังไม่มีตัวไหนขึ้นทะเบียนว่ารักษาโควิด19

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีรายงานจากจีนว่า ยาฟาวิพิราเวียร์สามารถลดการติดเชื้อได้ดีกว่ายาต้านไวรัสตัวอื่น อย่าง LPV/RTV (ยาต้านไวรัสเอดส์) ของรัสเซียก็เช่นกัน พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ กำจัดเชื้อดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานในวันที่ 5 เมื่อเห็น 2 รายงานนี้จึงได้ทำแนวทางการรักษา โดยล่าสุดมีการปรับแนวทางเป็นฉบับที่ 17 ซึ่งข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมการแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆในกทม. รวมทั้งรพ.ในกทม. ได้รวบรวมข้อมูลเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาจากคนไข้กว่า 400 คน พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็วภายใน 4 วันหลังเริ่มมีอาการ พบว่า ลดอาการรุนแรงได้ 28.8% ขณะที่ค่ามัธยฐานของระยะเวลาการเริ่มให้ยา จนถึงผุ้ป่วยอาการดีขึ้น หากผู้ป่วยโรคปอดบวมรุนแรงใช้เวลา 17 วันดีขึ้น แต่หากปอดบวมไม่รุนแรงใช้เวลา 9 วัน ซึ่งกรณีนี้ทางรามาธิบดีศึกษา

อย่างไรก็ตาม ทาง HITAP ได้ทบทวนรายงาน 12 การศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งมีบางรายงานพบมีประสิทธิผล กับบางรายงานไม่มีประสิทธิผล อย่างที่รายงานว่า ยังไม่มีรายงานว่ายาตัวไหนรักษาโควิดได้จริงๆ จึงมีแต่การทดลอง และทำแนวทางการศึกษาของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ในเรื่องประสิทธิผลที่ใช้ มีการพิจารณาหลายเรื่อง อย่างที่ HITAP ประเมินมามีทั้งความรุนแรงของผู้ป่วย ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือไม่ หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ รวมทั้งสถานที่ศึกษา ซึ่งมีความแตกต่าง บางการศึกษาในคนไข้นอก บางการศึกษาคนไข้ใน ทำให้ผลค่อนข้างแปรปรวน นอกจากนั้น ขนาดยาและปริมาณยาก็ไม่เท่ากัน เป็นต้น

“ข้อมูลที่ออกมาแล้วและที่ HITAP เขียนเหมือนกันคือ ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิผลในการลดอาการทางคลินิกใน 7 วัน และ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ จึงต้องขอวงเล็บไว้ว่า สนับสนุนแนวทางการรักษาล่าสุดฉบับที่ 17 ที่ควรเริ่มให้ยา ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และผมได้สอบถามคุณหมอที่อยู่หน้างาน ก็บอกเช่นกันว่า ต้องให้เร็วจะดี ถ้าให้ช้าไม่ค่อยดี จึงสอดคล้องกับทาง HITAP ดังนั้น ในประเด็นยาฟาวิพิราเวียร์ จะให้ผลหรือไม่ ต้องดูว่าเปรียบเทียบกับยาอะไร โดยส่วนใหญ่ 12 การศึกษาไม่ได้เปรียบเทียบกับยาหลอก แต่เปรียบเทียบกับยาที่แต่ละประเทศใช้อยู่ สรุปคือ ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิผลในการลดอาการทางคลินิก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวย้ำว่า สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ ที่ออกมานั้น ไม่ใช่แค่กรมการแพทย์ แต่ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งกรมต่างๆในกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมเวชบำบัดวกฤตแห่งประเทสไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น โรงเรียนแพทย์ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จุฬาฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปรับแนวทางแต่ละครั้งมีการถกเถียงกันมาก เพราะจะมีทั้งประสบการณ์หน้างาน รายงานต่างประเทศ รวมทั้งผลศึกษายาใหม่ๆ ซึ่งมีการพูดเหมือนกัน อย่างสนับสนุนให้ทำการศึกษาวิจัย เช่น ยาไอเวอร์เม็คติน เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้ทางองค์การเภสัชกรรมมีการสั่งจองและเตรียมผลิตเองหลายสิบล้านเม็ด และจะทยอยเข้ามา รวมทั้งเรามีการติดตามศึกษาผล โดยจะทำเป็นบิ๊กดาตา ที่ดูว่าผลของฟาวิพิราเวียร์ในรอบระบาดเดลตา เป็นอย่างไร เพราะแพทย์หน้างานบอกว่า หากให้ยาช้าเกิน 5-6 วันผู้ป่วยจะเป็นนิวมอเนียพอสมควร จึงต้องให้เร็ว ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชเปิดคลินิกยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะกังวลคนไข้ได้รับยาช้า

ภาพจากองค์การเภสัชกรรม