สังคมออนไลน์มีการแชร์หนังสือรับรองฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 4 พร้อมทวงถามข้อเท็จจริง ล่าสุดกรมควบคุมโรค และรพ.รามาธิบดีแจงเหตุบุคลากรต้องไปศึกษาต่างประเทศ โดยประเทศปลายทางไปรับรองซิโนแวค และรับรองเพียงไฟเซอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนของบุคลากรรายหนึ่งที่พบว่า การฉีดวัคซีนด้วยกันถึง 4 เข็ม เริ่มตั้งแต่เข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564เป็น Coronavac ซึ่งก็คือซิโนแวค และเข็มที่ 2 ฉีดซิโนแวค เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 หลังจากนั้นได้รับเข็มที่ 3 กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 กระทั่งเข็มที่ 4 ฉีดด้วยวัคซีน Comirnaty หรือไฟเซอร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เรื่องนี้เหมาะสมหรือไม่ หรือเป็นกลุ่มวีไอพีนั้น

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า หนังสือรับรองดังกล่าวเป็นของแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้รับวัคซีน เข็ม 1 เป็นซิโนแวก เมื่อวันที่ 25 มี.ค. และ เข็ม 2 เป็นซิโนแวค เมื่อวันที่ 18 เม.ย. จากนั้น 17 ก.ค. ที่ผ่านมา รับบูสเตอร์แอสตร้า เป็นเข็ม 3 แต่เนื่องจากมีภารกิจไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทางรามาธิบดี ได้ทำหนังสือส่งตัวมาขอรับคำปรึกษาและรับวัคซีนเพิ่ม เนื่องจากประเทศที่ไปศึกษาไม่รับรองซิโนแวค อีกทั้งประเทศปลายทางที่เดินทางไปรับรองไฟเซอร์ จึงต้องฉีดไฟเซอร์ ส่วนรายละเอียดให้สอบถาม รพ.รามาธิบดี

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับแจ้งกรณีที่มีการโพสต์ในโซเชียลว่า มีผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ฉีดเป็นเข็มที่ 4 นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบบริหารจัดการวัคซีน COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (MOPH IC : MOPH Immunization Center) พบว่า กรณีนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังจะเดินทางไปปฏิบัติงานที่ประเทศแคนาดา ซึ่งมีระเบียบว่าจะต้องได้รับวัคซีนที่ประเทศแคนาดากำหนดจึงสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโควิดชิลด์ ร่วมกับแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศเป็นลบ    

ดังนั้น กรณีนี้จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ภายหลังได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 หน่วยงานสาธารณสุขของแคนาดา (The Public Health Agency of Canada) แนะนำว่าผู้คนในประเทศแคนาดาที่รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า สามารถรับวัคซีนไขว้เป็นชนิด mRNA ได้แก่ ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโควิด ดังนั้น การรับวัคซีนไฟเซอร์ของบุคลากรทางการแพทย์รายนี้ที่กำลังจะเดินทางไปปฏิบัติงานในประเทศแคนาดาเป็นไปตามเงื่อนไขของการเข้าประเทศที่ประเทศปลายทางระบุ 

ด้าน นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ทางรามาธิบดี ได้ส่งรายชื่อแพทย์ที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่มีกำหนดเดินทางในเดือนก.ย.นี้ ให้กรมควบคุมโรคพิจารณาเรื่องการจัดสรรวัคซีนให้ ในสถานะผู้ที่ต้องการเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ จำนวน 2 คน ส่วนรายละเอียดไม่ทราบว่ามีการนัดหมายรับวัคซีน แต่ในการเดินทางไปต่างประเทศ บางประเทศไม่รับรองวัคซีนซิโนแวค และหากฉีดแค่แอสตร้า เพียง 1 เข็ม บางประเทศก็ไม่นับว่า รับวัคซีนไปแล้ว

ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอโสภณ” กำชับหน่วยฉีดวัคซีนโควิดเช็กข้อมูลคนรับบริการ หลังพบกลุ่มฉีดเข็ม 4 แล้วกว่า 200 ราย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org