นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ และ นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย We Care Network – เครือข่ายเราดูแลกัน ซึ่งทำโครงการ Covid-19 Home Care เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation ( HI ) ได้ลงพื้นที่ชุมชนวังแดง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อติดตามและทดสอบการตรวจเชิงรุกสำหรับเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการตรวจเชิงรุกและคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้ประชาชน แต่หากให้ประชาชนนำไปตรวจเองก็อาจมีความผิดพลาดได้ ทำให้ได้ผลที่ไม่น่าเชื่อถือ จึงได้หารือกับทีมแพทย์อาสา We Care Network เพื่อออกตรวจตามจุดต่าง ๆ และให้คำแนะนำแก่ประชาชน ที่สำคัญควรมีการลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลผู้ที่ตรวจเชื้อไปแล้วว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ โดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จะพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นเแอปพลิเคชั่นหรือซอฟต์แวร์เพื่อตรวจสอบให้เกิดประสิทธิภาพและบริหารจัดการการตรวจได้
“การตรวจในชุนชนที่มีกลุ่มเสี่ยงและมีผู้ติดเชื้อจะเรียกมาทีละบ้านเพื่อลดความแออัด เมื่อตรวจพบก็เข้าสู่ Community Isolation และการกักตัวที่บ้าน คัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน และเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล สิ่งที่ทำในวันนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบต่อไป” รมว.ดิจิทัลฯกล่าว
ด้าน นพ.ฆนัทกล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีผู้ป่วยค่อนข้างมาก สิ่งสำคัญคือต้องแยกผู้ป่วยออกมา ซึ่งการตรวจเชิงรุก หรือการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เครือข่ายสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และเครือข่าย We Care Network ได้เข้ามาให้บริการตรวจเชื้อโควิดประชาชนและทำไปหลายจุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท หน่วยงาน และชุมชนต่าง ๆ ข้อมูลของผู้ที่ตรวจเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ ประเมินผล เพื่อวางแผนในเชิงระบาดวิทยาต่อไป
“ท่านรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ให้ความสำคัญโดยจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นรูปแบบของการลงทะเบียน จะช่วยให้เห็นการแพร่กระจายว่า ต้องดำเนินการเชิงรุกในจุดไหนเป็นพิเศษ การจัดการระบบการตรวจเชิงรุกในปัจจุบันต่างฝ่ายต่างทำ ยังไม่มีระบบเชื่อมโยงและติดตามผล ซึ่งจะได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาให้เป็นระบบเพื่อใช้ในระดับประเทศต่อไป” นพ.ฆนัทกล่าว
นพ.ฆนัทกล่าวอีกว่า ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สั่งซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อเร่งการตรวจเชิงรุกให้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแนวทางมาตรการการใช้ชุดตรวจ ATK ให้เกิดประโยชน์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาจต้องมีการติดตามว่า ซีเรียลนัมเบอร์ชุดตรวจที่ให้ไปนั้นประชาชนที่ได้รับมีการนำไปใช้ตรวจจริงหรือไม่ ปัญหาอีกประการหนึ่งคือการตรวจด้วยตนเองพบว่า ประชาชนได้ชุดตรวจ ATK ไปแล้วนำไปเก็บไว้ ไม่ตรวจ หรือรายงานผลผิด ซึ่งจะต้องมีมาตรการหรือวิธีการที่จะช่วยประชาชน
ด้าน น.ส.กานต์กนิษฐ์ กล่าวว่า ความสำคัญของการตรวจเชิงรุกคือการแยกผู้ป่วยออกมา ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อเนื่องในอีกหลายชุมชน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งต้องขอขอบคุณทีมแพทย์จิตอาสา We Care Network ที่เข้ามาช่วยเหลือการตรวจในชุมชนต่าง ๆ
- 9 views