กระทรวงสาธารณสุข จับมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาการตรวจรักษาทางไกล โรงพยาบาลในพื้นที่ทุรกันดาร "พี่หมอช่วยน้องหมอ" ปรึกษาการวินิจฉัยและคำแนะนำแนวทางการรักษาด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เห็นภาพผู้ป่วยอย่างชัดเจน เพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่รับบริการ นำร่องที่โรงพยาบาลแม่สอดและอุ้มผาง จ.ตาก ครั้งแรกในประเทศ
วันนี้ (2 มิถุนายน 2560) ที่ โรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสำนักงานพัฒนาดิจิทัลฯ ผู้แทนสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) และคณะ เยี่ยมชมการสาธิตการตรวจรักษาทางไกล (telemedicine) "พี่หมอช่วยน้องหมอ" ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ผ่านระบบประชุมทางไกลบนเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ณ รพ.แม่สอด และ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก
โดยโครงการตรวจรักษาทางไกล ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ผ่านระบบประชุมทางไกลบนเครือข่าย GIN เป็นหนึ่งในงานบูรณาการบริการภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ตามแนวทางแผนปฏิบัติการ Digital Economy ของประเทศไทย และยุทธศาสตร์ eHealth กระทรวงสาธารณสุข สอดคล้องกับ 4 excellence และ MOPH 4.0 เพื่อขับเคลื่อนสู่ Thailand 4.0 นำร่อง โรงพยาบาลแม่สอดและโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก และจะขยายผลไปยังโรงพยาบาล ในถิ่นทุรกันดารพื้นที่ห่างไกล ชายขอบจังหวัด ชายขอบประเทศ ซึ่งการนำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน (Common Services) ของหน่วยงานให้บริการผ่านเครือข่าย GIN จะช่วยลดระยะเวลา ลดต้นทุนต่อหน่วย และลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณด้านเครือข่ายในภาครัฐ สำหรับการตรวจรักษาทางไกล ผ่านระบบประชุมทางไกล เป็นการใช้ระบบห้องแพทย์ออนไลน์ (ซึ่งในครั้งนี้ทดลองใช้ MedCubes) ร่วมกับอุปกรณ์ตรวจรักษา อาทิ เครื่อง CT, Ultrasound, EKG, Retina และการตรวจเบื้องต้น (Screening) สำหรับหู ตา และผิวหนัง ซึ่งระบบจะทำการรับส่งข้อมูลผู้ป่วยผ่านเครือข่ายสารสนเทศ GIN ที่ความเร็ว 30/30mbps เป็นเครือข่าย Intranet ที่มีความปลอดภัยสูง และมี link backup เส้นทางสำรอง ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีเสถียรภาพในการรับ-ส่งสัญญาณภาพและเสียงความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์เห็นภาพผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน ลดความเสี่ยงการวินิจฉัยพลาด
โดยแพทย์โรงพยาบาลอุ้มผาง (รพ.น้อง) จะทำการรักษาผู้ป่วยที่มารับบริการ และส่งข้อมูลผู้ป่วยขณะทำการรักษาผ่านเครือข่ายสารสนเทศ ไปยังโรงพยาบาลแม่สอด (รพ.พี่) เพื่อปรึกษาการวินิจฉัยและคำแนะนำแนวทางการรักษากับแพทย์ โรงพยาบาลแม่สอด ให้ช่วยพิจารณาข้อมูลผู้ป่วยพร้อมภาพประกอบ และตอบกลับผ่านระบบห้องแพทย์ออนไลน์ได้ทันที เป็นการช่วยเหลือ และการแบ่งปันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ ระหว่างแพทย์ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลขนาดเล็ก ในลักษณะ "พี่หมอช่วยน้องหมอ" ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในการรักษาให้แก่แพทย์ ลดความเครียด และความโดดเดี่ยวของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยลดความแออัด ลดการรอคอยในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล ขนาดใหญ่ ได้ในอนาคตบรรลุเป้าหมาย "ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน"
- 61 views