จากเมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 ที่ผ่านมา ได้มีผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขนำโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเสนอให้รัฐบาลพิจารณาออกกฏหมาย เพื่อหาทางป้องกันและคุ้มครองผู้ปฎิบัติการ ตลอดจนนักวิชาการที่ทำงานในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
วันนี้ (13 สิงหาคม 2564) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สพฉ. ในฐานะที่ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายต่างๆด้านการปฏิบัติการฉุกเฉิน ซึ่งดูแลผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินในทุกระดับ เห็นด้วยที่ควรจะต้องมีการออกมาตรการในการคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ปฏิบัติการเหล่านี้ เนื่องจากการทำงานในขณะนี้เป็นการทำงานแข่งกับเวลา โรคโควิด-19 เป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ บางเรื่องไม่ได้เขียนไว้ในกฎระเบียบหรือมาตรฐานเดิมว่าจะต้องทำอย่างไร มีแค่ข้อมูลความเห็นทางวิชาการ แต่ก็ต้องทำ เพื่อรักษาผู้ป่วยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในห้องฉุกเฉินขณะนี้ มีผู้ป่วยมากเกินทรัพยากร เมื่อไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ แม้อยากจะรักษาแต่แพทย์พยาบาลที่ทำงานอาจต้องจำใจปฏิเสธ หรือ อาสามัครที่เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด 19 แล้วพบว่าหัวใจหยุดเต้น กฎหมายเดิมบอกว่าต้องช่วยปั้มหัวใจ แต่ทำให้เสี่ยงต่อการฟุ้งกระจายของละอองฟอย ถ้าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมก็ไม่แนะนำให้ทำซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจจะขัดต่อกฎหมายเดิม
“ตอนนี้มีอาสาสมัครจำนวนมากที่มาร่วมปฎิบัติการกับ สพฉ. ในการขนส่งผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าข่ายบางคนมีแค่ผลยืนยันด้วย Rapid Antigen test Kit ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ 100 % ว่าติดเชื้อ แต่มีความต้องการเดินทางไปรักษาหรือกลับภูมิลำเนา ก็ต้องจัดรถเดินทางไปส่ง และเสี่ยงต่อการปะปนกับผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ทำงานก็อาจถูกฟ้องร้องทางกฎหมายได้ในภายหลัง ผมจึงสนับสนุนให้มีมาตรการในการคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ปฎิบัติการฉุกเฉิน รวมถึงอาสาสมัครของทุกหน่วยงานที่เสียสละมาทำหน้าที่ตรงนี้” เลขาธิการสพฉ. กล่าว
- 6 views