กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือน! การตรวจหาภูมิคุ้มกัน ยังไม่มีข้อกำหนดป้องกันได้ขนาดไหน เป็นเพียงการยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันเท่านั้น จึงยังไม่มีที่ไหนบอกว่าจำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันหรือไม่ ขณะที่อธิบดีกรมวิทย์ เผยเจาะลึกสายพันธุ์เดลตา 76 จังหวัด เว้นสุพรรณบุรียังไม่เจอ แต่อาจจะยังตรวจไม่เจอ จึงไม่ได้แปลว่าไม่มี สรุปคือ เดลตาพบแล้วทุกจังหวัด
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ในการแถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสก่อโรคโควิด-19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลการจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังช่วง สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 31 ก.ค.- 6ส.ค. 2564 มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ทั่วประเทศ ประมาณ 1,632 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา ประมาณ 1,499 ตัวอย่าง อัลฟา 129 ตัวอย่าง และเบตา 4 รายในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ สัดส่วนสายพันธุ์โดยเอาสถานการณ์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นตัวแทนสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ภาพรวมทั้งประเทศ เป็นสายพันธุ์เดลตา 91.9 % อัลฟา 7.9 % และเบตา 0.2 % เฉพาะพื้นที่กทม. เป็นสายพันธุ์เดลตา 95.4% และอัลฟา 4.6 % ภูมิภาค เดลตา 83.2% อัลฟา 16 % และเบตา 0.8 %
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ถ้าเจาะลึกสายพันธุ์เดลตา จะเห็นว่า 76 จังหวัด เว้นสุพรรณบุรียังไม่เจอเดลตา แต่อาจจะยังตรวจไม่เจอ จึงไม่ได้แปลว่าไม่มี อาจสรุปได้ว่าเจอเดลตาในทุกจังหวัดของประเทศไทยแล้ว ส่วนสายพันธุ์เบตา พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมา 4 ราย คือที่จ.ภูเก็ต 3 รายและพัทลุง 1 ราย ถ้าดูภาพรวมกว่า 70 % ยังอยู่ที่จ.นราธิวาส ที่เป็นแหล่งแรกที่เจอที่มีคนข้ามาจากประเทศมาเลเซียและนำสายพันธุ์เบตาเข้ามาด้วย แต่เบตาเป็นสายพันธุ์ที่อำนาจการแพร่เชื้อไม่ได้มาก จึงค่อนข้างจำกัดวงอยู่ที่ภาคใต้ แต่เคยเจอที่จ.บึงกาฬ 5 รายและยุติไปแล้วหลังไม่มีรายใหม่ใน 2 สัปดาห์ ส่วนจ.สมุทรปราการ 3 รายอยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ กรณีกทม.เคยเจอ 3 ราย ไม่มีการพบเพิ่มเติม กรณีของเบตาไม่ได้เป็นปัญหานอกพื้นที่ของชายแดนภาคใต้ แต่มีการเฝ้าระวังต่อไปว่ามีการแพร่กระจายไปที่อื่นหรือไม่ อย่างไร
“ธรรมชาติเดลตามีการแพร่กระจายหรือ ติดเชื้อได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า อันนี้จะทำให้การแพร่กระจายทำไมรวดเร็ว ทำไมคนไข้เพิ่มขึ้นหลัก 2 หมื่นต่อวัน ด้วยอำนาจการแพร่เชื้อได้ง่ายทำให้ติดง่าย เพราะฉะนั้นความเคร่งครัด หน้ากากอนามัย ล้างมือ การรักษาระยะห่างยังเป็นเรื่องสำคัญและคนไทยช่วยกันหยุดยั้ง เพราะไวรัสเดินไปเองไม่ได้ แต่จะไปกับผู้คนและทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหลาย ถ้าหยุดแพร่เชื้อได้เร็ว คุมโรคได้เร็ว โอกาสเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็จะน้อยลง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่”นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จากที่มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียว่ามีอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นคนนี้ไปตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนแล้ว มาพูดว่าภูมิคนนั้นคนนี้ขึ้นมากน้อย ซึ่งการตรวจแบบนั้นไม่ได้บอกอะไร และไม่คุ้มที่จะไปตรวจ เพราะเป็นการขึ้นของภูมิคุ้มกันโดยภาพรวมๆ ไม่ได้บอกว่าจัดการเดลตา เบตา อัลฟาได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเพียงการวัดว่ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นอีกทั้งห้องแล็ปแต่ละแห่งก็จะมีค่าของตัวเลขที่วัดแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นการตรวจในคนละแล็ปจะนำผลมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เและองค์การอนามัยโลกหรือWHOยังไม่ได้กำหนดว่าภูมิคุ้มกันขึ้นไประดับใดจึงกันโรคได้ ซึ่งการกันโรคได้อาจจะกันสายพันธุ์เดิมได้ แต่สายพันธุ์ใหม่อาจจะกันไม่ได้ เป็นต้น
“หากจะไปตรวจขอให้สอบถามแล็ปที่จะตรวจว่าเป็นการตรวจ neutralizing antibody ที่เป็นภูมิคุ้มกันที่ป้องกันกำจัดโรคหรือไม่ และถ้าเป็นการตรวจภูมินี้แล้วเป็น neutralizing antibody ต่อสายพันธุ์ใด ซึ่งหากเป็นเพียงการตรวจหาภูมิคุ้มกันในภาพรวมๆทั่วไป ถ้าพบว่ภูมิขึ้นไม่มากก็ไม่ได้บอกว่ากันโรคไม่ได้ หรือถ้าภูมิขึ้นมาก ก็ไม่ได้แปลว่าจะกันโรคได้”นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า จากที่มีการรายงานการตรวจเจอสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยครั้งแรกราวกลางเดือนมิ.ย. 2564 จนถึงตอนนี้กลางเดือนส.ค. ราว 2 เดือน จะเห็นว่ามีการแพร่กระจายเร็วมาก ครอบคลุมประเทศไทยกว่า 91 % และกทม.กว่า 95 % แล้ว และขอย้ำการตรวจหาภูมิคุ้มกันว่าแม้เป็นการตรวจพบneutralizing antibody ก็ยังไม่มีการกำหนดว่า neutralizing antibody ระดับมากน้อยขนาดไหนเท่าไหร่ที่ชัดเจนว่าจะป้องกันได้ เป็นเพียงการยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันเท่านั้น จึงยังไม่มีที่ไหนบอกว่าจำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกัน การตรวจในขณะนี้ทั่วโลกยังเป็นเพื่อการวิจัย และนำไปสู่ข้อสรุปในภาพรวมว่าจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือไม่
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 4 views