สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชวนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ จัดประชุมออนไลน์เครือข่ายสมัชชาสุขภาพทุกจังหวัด-สภาองค์กรชุมชน หลายร้อยคนทั่วประเทศ เตรียมรับมือวิกฤตการณ์ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ โดยใช้รูปธรรมจาก “นครปฐมโมเดล”เป็นต้นแบบ ทั้งการตั้งศูนย์ประสานงาน การตั้งกองทุนลมหายใจ การสนับสนุน HI และ CI และมีนวัตกรรมทางสังคมระดับพื้นที่ที่หลากหลาย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยในที่ประชุมเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด และสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๙ ส.ค. ๒๕๖๔ ว่า สถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าประเทศอยู่ระหว่างวิกฤต โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ได้ทะลุ ๒ หมื่นคน เสียชีวิตมากกว่าวันละ ๒๐๐ ศพ และจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกำลังเดินหน้าสู่ ๑ ล้านคนในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งคาดการณ์ว่าสถิติจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงกลางเดือน ส.ค. - ก.ย. นี้ ฉะนั้นทุกภาคส่วนจำเป็นต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือประชาชน

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า หากพิจารณาสถานการณ์การระบาดจะพบว่าเชื้อโควิด-19 ได้ขยายออกจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล กระจายตัวจนใกล้เป็น “วิกฤตของระบบสาธารณสุขระดับพื้นที่” ทั่วประเทศไปแล้ว และจากตัวเลขประชาชนที่ทยอยเดินทางออกจาก กทม. กลับไปรักษาตัวตามภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นทุกวันตามนโยบายส่งกลับผู้ติดเชื้อเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเตียงของโรงพยาบาลใน กทม. เชื่อว่าอีกไม่นานสถานการณ์การติดเชื้อของแต่ละจังหวัดจะไม่ต่างจาก กทม. ที่ผ่านมา

“สถานการณ์เช่นนี้ตอกย้ำให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นตรงกันว่า เป้าหมายและกลยุทธ์รับมือโควิด-19 ระลอกสี่จะอยู่ที่ตำบลและชุมชน โดยมีการดูแลรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) และศูนย์พักรักษาที่ชุมชน หรือ Community Isolation (CI) ที่จัดการโดยประชาชนในพื้นที่ จะเป็นระบบบริการหลัก และมีจังหวัด อำเภอเป็นฐานอำนวยการ สนับสนุน และรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก รวมทั้งมีพระและวัดเป็นที่พึ่งด้านจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต” เลขาธิการ คสช. กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า มีตัวอย่างพลังภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และจิตอาสาของจังหวัดนครปฐม ได้เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายก อบจ. เกิดมาตรการของชาวนครปฐม จนเป็นต้นแบบการจัดระบบการจัดการโควิด-19 ระดับจังหวัด เกิดเป็น “นครปฐมโมเดล” ที่มีรูปธรรมการจัดการ กิจกรรม และนวัตกรรมทางสังคมระดับพื้นที่ที่หลากหลาย โดยล่าสุด ๔ จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ หรือ “นครชัยบุรินทร์” และ ๕ จังหวัดของ กขป. เขต ๑๐ ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร มุกดาหาร และอำนาจเจริญ ได้นำโมเดลดังกล่าวไปต่อยอดแล้ว

นพ.สำเริง แหยงกระโทก อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแกนนำสมัชชาสุขภาพเขตนครชัยบุรินทร์ กล่าวว่า หากถอดบทเรียนเรื่องมาตรการประชาชนในการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ จาก “นครปฐมโมเดล” จะพบว่ามีอยู่ ๔ ประเด็นสำคัญที่แต่ละจังหวัดสามารถประยุกต์ใช้ได้ ได้แก่ ๑. การตั้งศูนย์ประสานงานภาคประชาชนสู้ภัยโควิด-19 ประจำจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานและทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่ง จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการแล้ว ๒. การจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมปัจจัยสนับสนุน ซึ่งมีตัวอย่างจาก “กองทุนลมหายใจ” ของ จ.นครปฐม ๓. การบริหารสิ่งสนับสนุนทั้งทางการแพทย์และทางสังคมเข้าไปสู่ HI และ CI ในชุมชนพื้นที่ ๔. การสร้างและพัฒนาทักษะการจัดการ HI และ CI ของแกนนำ และอาสาสมัครในชุมชน ภายใต้การเป็นพี่เลี้ยงของระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่รับผิดชอบ

นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวเสริมว่า นอกจากมาตรการของประชาชนแล้ว บทบาทของพระสงฆ์และวัดที่มีอยู่ทุกพื้นที่มีความสำคัญมากในการเป็น “ผู้นำชุมชน และสถานที่พักพิง” รับมือกับวิกฤตครั้งนี้ ดังที่ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ได้แสดงพระธรรมเทศนา ไว้เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ค. ๒๕๖๔ ตอนหนึ่งว่า “ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ทุกภาคส่วนล้วนนำเอาความดีและความเชี่ยวชาญมารวมเป็นพลังสำคัญช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คณะสงฆ์ได้จัดตั้งโรงทาน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระสังฆราชฯ สนับสนุนให้ใช้พื้นที่วัดเป็นศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วยสีเขียว คณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ร่วมประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศเพื่อรองรับและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยโควิด-19”

 “ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19  มีหลายพื้นที่ที่วัดและพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญ เช่น ๑. การดูแลด้านสุขภาพกันเองของพระสงฆ์ และการร่วมดูแลชุมชน  ๒. การสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง CI ซึ่งเป็นได้ทั้ง CI ของพระด้วยกันเอง หรือการใช้พื้นที่วัดเป็นฐานเพื่อจัดตั้ง CI ของชุมชน  ๓. การระดมปัจจัยและสิ่งสนับสนุนในพื้นที่  ๔. การช่วยเหลือญาติโยมในช่วงท้ายของชีวิต และการ “ปลุก-ปลอบ” เยียวยาจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย และเป็น “เสาหลักทางจิตวิญญาณ” ให้ทุกคนก้าวผ่านความยากลำบากครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน” รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141