อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ แจงปมงานวิจัยฟ้าทะลายโจร ไม่ได้ถูกส่งคืนจากวารสารฯ แต่ทีมวิจัยพบข้อผิด 1 จุดเกี่ยวกับตัวเลข จึงขอดึงงานวิจัยออกมาเพื่อปรับปรุง และส่งคืนวารสารนานาชาติต่อไป โดยเนื้อหาการวิจัยยังคงเป็นไปตามรายงานฉบับแรก ย้ำ! ฟ้าทะลายโจรยังมีแนวโน้มที่ดี ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงงานวิจัยฟ้าทะลายโจร ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ปมการถอนงานวิจัย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ว่า ประเด็นงานวิจัยดังกล่าว ทำให้มีการสื่อสารที่อาจคลาดเคลื่อนได้ โดยข้อเท็จจริงนั้น นักวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้นำเสนอเพื่อรับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ แต่ระหว่างนั้นมีบางจุดที่ต้องขอดึงข้อมูลกลับมาแก้ไขให้ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว คือ Efficacy and safety of Andrographis paniculate extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัด ในผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่รุนแรง และเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกัน
“ หลังจากได้ข้อมูลผลลัพธ์และนำมาใช้ประโยชน์นั้น ทางนักวิจัยได้ส่งข้อมูลเอกสารไปที่วารสารวิชาการ เพื่อรอการตีพิมพ์ แต่ระหว่างนั้นได้เก็บข้อมูลเชิงรายละเอียด และพบข้อผิดพลาดเรื่องตัวเลขเล็กน้อย ซึ่งแม้ข้อมูลเล็กน้อย แต่งานวิจัยตัวเลขเล็กน้อยก้เป็นเรื่องใหญ่ นักวิจัยต้องซื่อสัตย์ จึงดึงข้อมูลตรงนี้กลับมา โดยไม่ได้ถูกปฏิเสธจากวารสารแต่ประการใด” พญ.อัมพร กล่าว
พญ.อัมพร กล่าวถึงรายละเอียดของงานวิจัย ว่า สืบเนื่องจากในช่วงต้นของการระบาดของโรคโควิด -19 ยังไม่มียาตัวใดที่รักษาได้จำเพาะว่ากำจัดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือสามารถรักษาโควิด-19ได้ ทีมผู้ศึกษาวิจัย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แสวงหายารักษา ซึ่งพบว่าฟ้าทะลายโจรมีคำตอบในห้องปฏิบัติการอยู่แล้ว จึงนำมาศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัด ในผู้ป่วยโควิด- อาการไม่รุนแรง โดยเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกัน แนวโน้มผลลัพธ์ที่ดี โดยเฉพาะการลดการพัฒนาตัวโรคไม่ให้รุนแรงจนปอดอักเสบ โดยได้สุ่มผู้ป่วยอายุ 18-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ แต่ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย โดยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 29 ราย ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่มีการคำนวณเรียบร้อยแล้วสำหรับการรักษา กลุ่มที่ 2 จำนวน 28 ราย ได้รับยาหลอก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต่างไม่ทราบว่าตัวเองได้ยาชนิดใด
ผลการศึกษาปัญหาปอดอักเสบ พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร 29 ราย ไม่มีใครที่เกิดภาวะปอดอักเสบเลย ส่วนคนที่ได้รับยาหลอก 3 ราย เกิดภาวะปอดอักเสบ หรือ 10.7% ข้อมูลตรงนี้สำคัญมากที่เราผลักดันการศึกษาต่อเนื่อง และนำสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการใช้ยาในลำดับถัดไป ขณะเดียวกันนักวิจัยต้องขยายงานวิจัยเพื่อแบ่งปันเพื่อนนักวิจัยแวดวงอื่นๆ จึงต้องคิดค่าคำนวณต่างๆ โดยมีการคำนวณถ้านัยยะสำคัญทางสถิติ ในครั้งแรกมีการคาดเคลื่อน 0.03 จึงส่งผลวิจัยออกไป แต่เมื่อกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ก็พบว่ามีจุดอ่อน คือแทนที่ค่าความคาดเคลื่อนจะเป็น 0.03 จะต้องเป็น 0.112 ความสำคัญคือหากเป็นตัวเลข 0.03 เปรียบเสมือนทดลอง 100 ครั้ง การค้นพบผลลัพธ์คงเดิม 97 ครั้ง ตัวเลขน่าพอใจมาก แต่ตัวเลข 0.112 แปลว่าหากทดลอง 100 ครั้ง ผลลัพธ์เหมือนเดิมอยู่ที่ 90 ครั้ง ความเที่ยง ความคงที่ลดลงระดับหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์การตัดสินใจอื่นๆ หรือไม่ ก็ต้องติดตามต่อ เพราะความคาดเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงนี้เพราะจำนวนกลุ่มตัวอย่างมีค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ สิ่งที่เราค้นพบต่อจากการวิจัย คือการคงอยู่ของไวรัสในวันที่ 5 โดยพบว่าใน 29 รายที่ได้รับฟ้าทะลายโจร ใน 10 รายที่ยังเจอไวรัสอยู่ ส่วน 28 รายที่ได้ยาหลอก พบว่ามี 16 ราย ที่ยังเจอไวรัสในวันที่ 5 หรือมากเกินกว่าครึ่ง ผลตรงนี้ยิ่งตอกน้ำถึงความเป็นไปได้ว่าฟ้าทะลายโจระมีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่พบว่าจะมีผลต่อระบบการทำงานของตับ ไต และระบบเลือด สะท้อนว่าเป็นความปลอดภัยที่ไว้วางใจได้
“ดังนั้นการถอนงานวิจัยออกมา เราชาวกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ค้นพบข้อผิดพลาด 1 จุด ที่กล่าวมา จึงขอดึงงานวิจัยออกมา ไม่ใช่การถูกปฏิเสธ หรือถูกส่งคืนจากทางวารสาร เนื้อหาการวิจัยยังคงเป็นไปตามรายงานฉบับแรก เมื่อปรับปรุงตัวเลขเรียบร้อยแล้วจะมีการส่งกลับไปตีพิมพ์อีกครั้ง ดังนั้นฟ้าทะลายโจรยังมีแนวโน้มที่ดีในการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย นโยบายยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง” พญ.อัมพร กล่าว
- 64 views