กรมควบคุมโรคแจงข้อเท็จจริง หลังข่าวปลอมว่อนเน็ต! ย้ำวัคซีนไฟเซอร์จัดส่งตามจำนวนที่จัดสรร ไม่มีหาย ขณะที่กรณีกระแสข่าวส่งวัคซีนให้บุคลากรฯ ศูนย์ปฏิบัติการฯ ของ “นพ.ยง” ไม่เป็นความจริง เหตุบุคลากรศูนย์ฯ ทำหน้าที่ตรวจเชื้อโควิดมี 20 คน และฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ หมดแล้ว

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปที่โรงพยาบาลใหญ่ เพื่อให้เกิดการดูแลคุณภาพอย่างดี สามารถฉีดได้อย่างคุ้มค่า เพราะเปิดครั้งหนึ่งต้องฉีด 6 คน วัคซีนจึงต้องไปอยู่ในรพ.จังหวัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ปรากฏว่ามีข่าวปลอม ที่ระบุว่า วัคซีนที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก หายไปนั้น แต่เมื่อตรวจสอบจะพบว่า วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 4,320 โดส ได้นำส่งถึง รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จ.ตาก ได้ส่งถึงตั้งแต่เวลา 15.00 น.เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในสภาพครบถ้วนเพื่อเตรียมฉีดให้กับบุคลากรวันนี้ ดังนั้น ข่าวที่ทวิตว่าหายไปนั้นไม่ถูกต้อง

(ข่าวเกี่ยวข้อง : คืบหน้าส่ง "วัคซีนไฟเซอร์" รอบแรก 4-6 ส.ค.แล้ว 170 รพ. ฉีดบุคลากรฯ ด่านหน้ากว่า 4.6 หมื่นคน)

นอกจากนี้ ยังมีข่าวไม่ถูกต้องอีกข่าว ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าวัคซีนล็อตแรกจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคน รวมถึงนักศึกษาชั้นคลินิก ทั้งแพทย์ พยาบาล หรือวิชาชีพอื่นๆ เพราะมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงาน เช่น คนที่ทำงานแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน แผนกผู้ป่วยวิกฤต รพ.สนาม รวมฮอสพิเทล ศูนย์พักคอย เป็นต้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ตรวจหาเชื้อโควิด และผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน หรืออื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ห้องปฏิบัติการจึงเป็นอีกที่หนึ่งที่มีบุคลากรด่านหน้า เป็นกลุ่มเสี่ยง

“โดยมีข่าวออกมาว่า สธ.ส่งไฟเซอร์ฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ศูนย์ที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งข่าวนี้คลาดเคลื่อน เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติการที่เป็นห้องแล็ป มีคนฉีดซิโนแวคไปก่อนหน้านั้น 2 เข็มตั้งแต่ มี.ค.-เม.ย. ซึ่งระบบข้อมูลได้ขึ้นชื่อคนที่มีโอกาสฉีดบูสเตอร์โดส โดยอยู่ในระบบทะเบียนของกทม. เราจึงมีโควตาให้ แต่ตัววัคซีนไฟเซอร์ยังไม่ได้ส่งไปในจุดนั้น เพราะจำนวนน้อย วัคซีนจะส่งไปยังสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อรอจัดสรรต่อ เนื่องจากวัคซีนค่อนข้างน้อย ปกติเวลาส่งครั้งหนึ่งจะส่ง 240 โดสเป็นอย่างน้อย แต่ที่ศูนย์ฯนี้มี 20 คน ประกอบกับได้รับแจ้งจากทางศูนย์ว่า บุคลากรกลุ่มด่านหน้าที่ตรวจหาเชื้อนั้น ได้รับการฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ แล้ว โควตาที่กล่าวมาจึงยังอยู่ที่สำนักอนามัย และจะรอจัดสรรให้กับบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องการฉีดไฟเซอร์ต่อไป” นพ.โสภณ กล่าว

สรุปคือ ไม่มีการส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปยังศูนย์ฯ ศ.นพ.ยง แต่อย่างใด ซึ่งโควตากลาง ก็จะมีการจัดจุดฉีด ซึ่งที่ผ่านมาทางแพทยสภามีการรวบรวมรายชื่อแพทย์ พยาบาลที่ปฏิบัติงานโควิด แต่อยู่ในสถานพยาบาลขนาดเล็ก โดยจะนัดหมายมาฉีดกระตุ้นต่อไป