กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เดินหน้าผลักดัน ตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ 324 ตำรับ ครอบคลุมการรักษา 16 กลุ่มโรคอาการ เพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้โรงพยาบาลนำไปใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าบริหารจัดการ รวบรวม ปริวรรต ถ่ายถอด สังคายนา ใช้ตำรับยาแผนไทยในอดีตมาใช้ในทางการแพทย์ การสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในส่วน ตำราการแพทย์แผนไทยและตำรับยาแผนไทย ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 36 ฉบับ ประกอบด้วย ตำราการแพทย์แผนไทย จำนวน 850 รายการ 536 แผ่นศิลา ตำรับยาแผนไทย 54,979 ตำรับ และ นำเข้าระบบฐานข้อมูลภูมิปัญญาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร Herbal Medicinal Products Information System : HMPIS 38,776 ตำรับตามคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย อาทิ ตํารับยาแผนไทยในตําราการแพทย์แผนไทยที่จารึกบนศิลาจารึกในวัดทั่วประเทศ เอกสารโบราณในหอสมุดแห่งชาติ ตำรับ ตำราเฉพาะบุคคล ชุมชนวงศ์ตระกูล ราชสกุล และ สถาบันการศึกษา
ปัจจุบัน มีการคัดเลือกและกลั่นกรองตำรับยาแผนไทย จากตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ หมอพื้นบ้าน และบัญชียาหลักแห่งชาติ มีมติเห็นชอบตำรับยาแผนไทย 16 กลุ่มโรคอาการ คือ กลุ่มโรคเด็ก 25 ตำรับ กลุ่มโรคลม 80 ตำรับ กลุ่มอายุวัฒนะ 2 ตำรับ กลุ่มโรคปาก คอ 19 ตำรับ กลุ่มริดสีดวง 15 ตำรับ กลุ่มกษัย กร่อน 28 ตำรับ กลุ่มโรคผิวหนัง แผล โรคเรื้อน 25 ตำรับ กลุ่มโรคทางเดินปัสสาวะ กามโรค 5 ตำรับ กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน บิด ป่วง 9 ตำรับ กลุ่มโรคหอบ ไอ หืด 4 ตำรับ กลุ่มโรคสตรี 16 ตำรับ กลุ่มยาบำรุง 15 ตำรับ กลุ่มโรคฝี 18 ตำรับ กลุ่มไข้ 24 ตำรับ กลุ่มโรคท้องมาน 5 ตำรับ กลุ่มอื่นๆเช่น ยาถ่าย ยาหยอด ยาประคบ จำนวน 34 ตำรับ รวมทั้งสิ้น 324 ตำรับ
เป็นการนำองค์ความรู้ในตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์แผนไทย เป็นฐานข้อมูลหลักฐานในการตรวจสอบอ้างอิง การขึ้นทะเบียนตำรับยาไทย กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้โรงพยาบาลนำไปใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน และจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
ทางด้าน ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กล่าวว่า สำหรับ หลักเกณฑ์พิจารณา เป็นรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ประกอบด้วย 1) ตั้งสูตรตำรับ ตามองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย 2) จำนวนชนิดตัวยาในตำรับไม่มากชนิด 3) ใช้พืชสมุนไพรเป็นหลัก 4) หากมีสัตว์วัตถุไม่ควรใช้สัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และอนุสัญญาฯ CITES และห้ามเป็นส่วนที่ได้จากการฆ่าสัตว์
5) หากมีธาตุวัตถุที่จัดเป็นยาอันตราย ไม่ควรเกินข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตรายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 6) เป็นสมุนไพรที่สามารถปลูกหรือจัดทำได้ในประเทศไทยเป็นหลัก 7) มีประสบการณ์การใช้อย่างกว้างขวาง มีหลักฐานอ้างอิง แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย และ 8) สามารถนำมาใช้เพื่อการบำบัดรักษาโรค โรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุข หรือโรคทางการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้จะได้มีการทบทวนตำรับที่มีศักยภาพสอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุขเพิ่มเติมเป็นระยะ
- 454 views