ปัจจุบันตรวจโควิด 3 ลักษณะ ทั้ง “ที่รพ.-ตรวจเชิงรุก- ปชช.ตรวจด้วยตัวเอง” ทั้งหมดหาก ATK เป็นบวกเข้าระบบ Home Isolation ทันที ยกเว้นกรณีต้องเข้า Community Isolation/ฮอสพิเทล/ รพ. ให้ตรวจ RT-PCR คู่ขนาน มีระบบแยกไม่ให้ปะปน เหตุกลุ่มนี้อาจมีผลบวกลวง ส่วนปัญหาผลตรวจ ATK เป็นบวก แต่ติดต่อ 1330 ไม่ได้ หรือล่าช้าเกิน 48 ชม. ล่าสุดสปสช.เร่งดำเนินการ ขณะที่กทม. เปิดสายด่วน 50 เขต 24 ชั่วโมง

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 6 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเด็นแนวทางปฏิบัติ การตรวจด้วยชุดตรวจ ATK สู่ระบบ HI / CI ผ่านระบบออนไลน์ โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ในช่วงที่ผ่านมามีการตรวจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งทีมแพทย์ชนบท กทม. กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยตรวจเชิงรุกมาช่วยกันลงในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30 ทีมต่อวัน โดยพบปัญหาหน้างานว่า เมื่อตรวจ ATK เป็นบวกแต่ทำ Home Isolation ไม่ได้ ต้องทำ Community Isolation แต่ต้องตรวจ RT-PCR อย่างไรนั้น

00 ย้ำ! แนวทางเข้าระบบ ATK เมื่อผลเป็นบวก

ขออธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการตรวจด้วย ATK เป็นบวก จะเข้าข่ายว่า เป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือ Probable case โดยจะไปได้ 2 ขา หากเป็นบวกสามารถ Home Isolation ได้เลย ไม่ต้องทำ RT-PCR ซ้ำ และจะมีสิ่งสนับสนุนจาก สปสช. เป็นอาหาร 3 มื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และยาจำเป็น 

“แต่หากจะเข้ารักษาสถานที่อื่นๆ ทั้งโรงพยาบาล ฮอสพิเทล หรือ Community Isolation (CI) ซึ่งการเข้า 3 สถานที่นี้จะต้องเข้าไปปะปนกับคนเป็นโควิด ซึ่งท่านอาจมีผลบวกลวง พบได้ประมาณ 3-5% ซึ่งเราไม่อยากให้คนที่อาจไม่ติดเชื้อไปปะปนกับคนติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องทำ RT-PCR คู่ขนาน แต่ต้องย้ำว่า ระหว่างการทำ RT-PCR ต้องไม่ให้เป็นอุปสรรค โดยให้เข้ารับไปรักษาที่ CI หรือฮอสพิเทล หรือรพ. แต่ให้ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเซ็นใบยินยอมรับการรักษา และทำ RT-PCR คู่ขนาน ซึ่งขณะนี้กำลังติดต่อทางเอกชนมารับสว็อปหน้างานด้วย การดำเนินการตรงนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่ตรวจ ATK เป็นบวก เพราะอาจมีผลลวงได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับระบบการตรวจนั้น มี 3 ลักษณะ 1. ไปตรวจที่โรงพยาบาล 2.ตรวจเชิงรุก อย่างช่วงนี้มีทีมแพทย์ชนบท CCRT ของกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ มีการตรวจหน้างาน ซึ่งจะขึ้นทะเบียนผู้ป่วย และสปสช.จะเก็บข้อมูลเพื่อไปจับคู่กับคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือรพ. หรือศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. เพื่อที่จะทำ HI หรือ CI ขณะนี้ CI มีประมาณ 5-6 พันเตียงแล้ว และยังมีเอกชนมาช่วยด้วย และ 3. ผู้ติดเชื้อเกิดจากการตรวจ ATK เอง ซึ่งหากเป็นชุดเทสต์ที่ผ่านการรับรองจาก อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากเป็นบวกให้ถ่ายรูปผลการตรวจ และรับบริการ โดยโทรไปที่ 1330 ซึ่งขณะนี้มี 3 พันคู่สาย คิดว่าจะเพียงพอ หากไม่สามารถติดต่อได้ ก็ให้แอดไลน์ของสปสช. จะมีระบบสอบถาม และส่งSMS แจ้งกลับมา โดยทั้งหมดเมื่อผลออกมาก็จะเข้ารับการรักษาได้ทั้ง HI หากไม่ได้ก็ CI หรือ โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก เป็นต้น

00 กทม.เปิดสายประจำเขต ช่วยจับคู่คลินิกผู้ป่วยผล ATK เป็นบวกเข้า HI

เมื่อถามกรณีติดต่อสปสช.แล้วและได้รับการตอบรับ แต่ไม่มีการดำเนินการกลับมาภายใน 48 ชั่วโมง จะทำอย่างไร นพ.สมศักด์ กล่าวว่า กรณีติดต่อสายด่วน 1330 ได้แล้ว แต่ยังไม่มีการติดต่อกลับ หรือยังไม่มีข้อมูลจับคู่คลินิก หรือรพ. ต้องขอบพระคุณท่านผู้ว่าฯ กทม. ขณะนี้ได้สั่งการให้เขตแต่ละเขต 50 เขต มีเบอร์โทรศัพท์ประจำเขต แต่ละเขตมี 20 คู่สายแต่ละเขต มีทั้งหมดเป็นพันคู่สาย เพื่อบริการประชาชน ซึ่งหากลงทะเบียนจาก สปสช.แล้ว แต่ไม่มีคลินิกติดต่อมา และติดต่อสปสช.ไม่ได้ ให้สอบถามไปทาง 50 เขตดังกล่าวเปิดบริการ 24 ชั่วโมง และหากมีปัญหาฉุกเฉินเร่งด่วน อาการค่อนข้างวิกฤตให้โทร 1669 แต่หากไม่วิกฤตขออนุญาตสงวนให้คนวิกฤตจริงๆ เพราะไม่เช่นนั้นคนวิกฤตจริงๆ จะไม่ได้รับการบริการตามสมควร

เมื่อถามว่าขณะนี้ยังมี รพ.ไม่ยอมตรวจ RT-PCR เมื่อผล ATK เป็นบวก จะทำอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีหนังสือแจ้งเวียนรพ.ทั่วประเทศในส่วนภาครัฐ เกี่ยวกับแนวทาง ATK แล้วว่าต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งในส่วนของภาคเอกชน ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ก็มีการแจ้งแล้วเช่นกัน

เมื่อถามว่ากรณีตรวจ ATK ผลเป็นบวก และติดต่อทางสปสช. 1330 ไม่ได้ หรือหลายคนติดต่อได้ แต่ยังไม่สามารถเข้าระบบได้เกิน 48 ชั่วโมง นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า พยายามคอนเฟิร์มกับทางเลขาธิการ สปสช.ตลอด ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้ผู้ป่วยแต่ละวันมีจำนวนมาก อาจมีผู้ป่วยตกค้างที่เกิน 24 ชั่วโมง และทางสปสช.พยายามเคลียร์ไม่ให้เกิน 48 ชั่วโมง แต่ก็ต้องขอขอบคุณทางกทม. ที่มีเบอร์ประจำเขต พี่น้องประชาชนอยู่เขตไหนให้ติดต่อสอบถามไปทางเขตนั้นได้เลย และทางเขตจะจับคู่คลินิกต่างๆให้ แม้กระทั่งคลินิกความงาม ทางเลขาฯสปสช.มีการอบรมกระบวนการในการดูแลผู้ป่วย

เมื่อถามว่า กรณีกระทรวงสาธารณสุขปรับหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยกลับเร็ว ยังไม่ครบกำหนด 14 วันจะมีปัญหาหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การให้กลับไปนั้น เป็นการแยกกักที่บ้านเรียกว่าเข้าสู่ระบบ HI มีหมอมีพยาบาลติดตามอาการด้วยเทเลเมดิซีน มีอาหาร มียา มีระบบติดตามตลอด ทั้งนี้ ที่ต้องทำเพราะเราพยายามรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งมีเชื้อมากกว่าคนที่อยู่ในรพ.มาก่อนแล้ว 10 วัน และทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานการดูแล

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org