สธ.เตรียมส่งวัคซีนป้องกันโควิด19 กระจายต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเดือน ส.ค. นี้ หลังจาก มิ.ย. และก.ค. พื้นที่กทม.และปริมณฑลได้รับจัดสรรค่อนข้างมาก เพื่อควบคุมการระบาด ส่วนพื้นที่ภูมิภาคจะเน้นฉีดผู้สูงอายุ 60 ปี ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ และ อสม. ด้าน ปลัดสธ.ย้ำวัคซีนมีทั้งสูตรผสม “ซิโนแวค+แอสตร้าฯ” วัคซีนไฟเซอร์ทั้งล็อตบริจาค และซื้อเอง 20 ล้านโดส ลงนามแล้ว และจะซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดสภายในปีนี้

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด -19 ในประเทศไทย ผ่านเพจ “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า ขณะนี้เรามีการฉีดวัคซีนแล้ว 17,011,477 โดส เข็ม 1 จำนวน13,225,233 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 3,786,244 โดส ถือว่าฉีดได้เร็วพอสมควร ส่วนการครอบคลุม กทม. และ 5 จังหวัดปริมณฑล ครอบคลุม 44% โดยเฉพาะ กทม. ครอบคลุม 61.67% คนสูงอายุฉีดแล้ว 70% ส่วนภูมิภาคฉีดได้ 12.43 % เพราะวัคซีนมีจำนวนจำกัด แต่ช่วง1 เดือนที่ผ่านมา มีการระบาดของโควิดมากในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จึงเกลี่ยนปริมาณวัคซีนมาฉีดที่กทม. และปริมณฑล

“ซึ่งขณะนี้ ในกทม. ถือว่าได้รับวัคซีนปริมาณมากแล้ว ต่อไปจะมีการฉีดให้ประชาชนในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น โดยเดือนนี้จะได้รับวัคซีนอีก 10 ล้านโดส โดยให้ความสำคัญผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป คนมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ จะได้รับก่อน ลำดับต่อมาคือ อสม. จะได้รับเช่นกัน และเป็นของบุคลากรส่วนอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ใน 10 ล้านโดส นั้นจะมีทั้งการให้วัคซีนหลัก ที่มีการเปลี่ยนสูตรการฉีด เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนกา” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว และว่า ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ล็อตบริจาคที่เข้ามาเมื่อเช้า 1.5 ล้านโดส และยังมีที่กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้ออีก 20 ล้านโดส ลงนามไปแล้ว และจะมีการซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดสเข้าใจว่าภายในปีนี้เช่นกัน เมื่อได้มาแล้วจะวางแผนจัดสรรต่อไป

นพ.โอภาสกล่าวว่า การกระจายวัคซีนใน ส.ค. และการใช้สูตรใหม่ SA ซึ่งข้อดีของสูตร SA จากการวิจัยที่มีการเผยแพร่ข้อมูลโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และไบโอเทค การให้วัคซีนต่างรูปแบบทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งในห้องปฏิบัติขึ้นสูงมาก ประเทศไทยจึงเอาวิธีการนี้มาใช้ โดยใช้สูตร SA คือ ซิโนแวคเข็มแรก และ 3 สัปดาห์ถัดไปฉีดเข็มสองด้วยแอสตร้าฯ ประสิทธิภาพจากการทดสอบในห้องปฏิบัติ ค่าภูมิคุ้มกันใกล้เคียงสูตรแอสตร้า 2 เข็ม ซึ่งต้องฉีดเว้นห่าง 12 สัปดาห์ จึงถือว่าสูตร SA ฉีดครบ 2 เข็มได้เร็วขึ้นจาก 12 สัปดาห์เป็น 3 สัปดาห์ ประสิทธิภาพใกล้เคียงสูตรเดิม และจากการนำมาใช้มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงอาการไม่พึงประสงค์ไม่ต่างจากเดิม ส่วนรายที่ฉีดวัคซีนสูตรผสมแล้วเสียชีวิต จากการพิสูจน์ศพพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน

"การกระจายใน ส.ค. จะกระจายลงต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจาก มิ.ย.และ ก.ค.กระจายใน กทม.และปริมณฑลค่อนข้างมากเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด โดย ส.ค.จะส่งต่างจังหวัดเพื่อฉีดผู้สูงอายุ 60 ปี ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ อสม.เป็นหลัก จากนั้นส่วนหนึ่งจะใช้ควบคุมการระบาดในพื้นที่ และฉีดเป้าหมายพิเศษ พื้นที่ท่องเที่ยว พังงา กระบี่ เป็นต้น มั่นใจว่าจะกระจายถึงประชาชน ขอให้กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีน" นพ.โอภาสกล่าว

วัคซีนไฟเซอร์

00 วันที่ 4-10 ส.ค. บุคลากรสาธารณสุขภูมิภาคเข้ากรุง ร่วมทีมคัดกรอง-ฉีดวัคซีนในชุมชน

ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 4-10 ส.ค. นี้ จะมีบุคลากรสาธารณสุขในภูมิภาค ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอดทน และมีประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ยากลำบาก ให้เข้ามาร่วมทีม CCRT ราวๆ 500 คน เพื่อทำงานเชิงรุกในพื้นที่กทม. ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง โดยร่วมทำคัดกรองด้วย ฉีดวัคซีน โดยทีมที่เข้ามาร่วมมือปปฏิบัติงานจะช่วยประมาณ 6-7 วันและสับเปลี่ยนทีม ตั้งเป้าว่าจะสามารถปฏิบัติการตรวจคัดกรองเชิงรุกได้กว่า 4-5 แสนราย และ แยกผู้ป่วยได้อย่างน้อย 7-8 หมื่นราย จะทำให้ผู้ป่วยที่อาการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสีเหลือง หรือสีแดงได้รับยาครบถ้วน ขณะเดียวกันยังมาช่วยเสริมทีมฉีดวัคซีนให้ด้วย